เรื่องการแสดงออกของนักธุรกิจที่มีต่อผู้คน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกผลิตภัณฑ์ นโยบาย การดูแลลูกค้า การโฆษณา หรือการปฏิบัติเรื่องส่วนตัวของบุคลากรทั้งหมดที่อยู่ในองค์กรธุรกิจ
ย่อมมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ดังนั้นภาคธุรกิจจึงต้องมีแนวทางการการปฏิบัติตัว
ซึ่งบางครั้งจะต้องแลกมาด้วยรายได้หรือกำไรที่น้อยเพื่อให้ธุรกิจได้รับความน่าเชื่อถือ
ไว้วางใจ เคารพ และเกรงใจจากผู้คน ในที่สุด เป็นการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างยั่งยืน
มีภาพปรากฏเป็นแบรนด์ของธุรกิจที่ชัดเจน สิ่งเหล่านั้นจะมีหลายคำที่ใช้เป็นหลัก
แต่จะมีความสับสนเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย จึงอยากมาอธิบายไว้ตรงนี้
คุณธรรม (Moral) ให้พูดกันง่ายๆ
คือสิ่งที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องทำก็ได้
การทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจาก การให้อะไรบางอย่างที่เกินกว่าสิ่งที่รับไว้แต่ทำให้ลูกค้าและสังคมได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การทำความสะอาดหน้าอาคารสำนักงานและพื้นที่ใกล้เคียง
เป็นต้น การดำเนินการให้ธุรกิจมีคุณธรรมหลายๆ ครั้งอาจไม่ได้เป็นส่วนที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจเลย
แต่จะสร้างความประทับใจเล็กๆให้กับผู้คนมากกว่า แต่ที่ดีที่สุด
คือได้สร้างความอิ่มเอมใจให้กับธุรกิจ และเมื่อสะสมไปนานเข้าจะกลายเป็นชื่อเสียงของธุรกิจและของคนที่ปฏิบัติ
จริยธรรม (Ethics) หมายถึงสิ่งที่ควรประพฤติในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ
เรียกว่า เป็นสิ่งที่ต้องหรือควรแสดงออกของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องต่างๆ เช่น
การหาสินค้าที่มีคุณภาพดี ไม่เป็นอันตรายต่อลูกค้า การดูแลลูกค้าด้วยความเต็มใจเต็มความสามารถ
การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ได้รับผลดีต่อลูกค้าของตัวเอง
การใส่ใจพนักงานในฐานะที่เข้าเป็นมนุษย์ผู้ร่วมกันสร้างธุรกิจ
การใส่ใจต่อผู้ถือหุ้นในฐานะเป็นผู้ร่วมความเสี่ยงการก่อตั้งทางธุรกิจ เป็นต้น
จรรยาบรรณ (Conduct) หลายๆ
ครั้งจะมีการแปลไว้ว่าเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดี แต่ถ้ามองลึกๆ ลงไปคือ
ข้อห้ามในการปฏิบัติมากกว่า ห้ามกระทำในสิ่งที่จะเป็นผลเสียต่อผู้คน
และตัวธุรกิจเอง เช่น การเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าในหลักสิทธิมนุษยชน ห้ามรับงานการสร้างกลยุทธ์ของบริษัทที่เป็นคู่แข่งกันในเวลาเดียวกัน
ห้ามแสดงออกในทางที่ผิดต่อศีลธรรมของสังคม (แต่ละสังคมไม่เหมือนกัน)
กล่าวโดยสรุปก็คือว่า จรรยาบรรณ เป็นข้อห้าม
จริยธรรมเป็น สิ่งที่ต้องทำ คุณธรรม เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม แต่เราจะรู้ได้อย่างไรหละว่า
ตอนไหนห้ามทำ ตอนไหนต้องทำ และต้อนไหนควรทำมากกว่าปกติ คำตอบมันจะคลุมเคลือเล็กน้อย
แต่ที่ใช้ได้ผลมาก คือการใช้คำว่า "ผิด ชอบ ชั่ว ดี" ในมุมมองของลูกค้า ลูกน้อง ตัวเอง ผู้คน
และสังคม
- มองว่า ทำไปแล้วใครจะเดือนร้อน ก็อย่าทำ (จรรยาบรรณ)
- มองว่า เราต้องทำอะไรในขั้นพื้นฐาน ก็จงทำ (จริยธรรม)
- มองว่า ทำอะไรแล้ว มันจะดีขึ้นไปอีก ควรส่งเสริม (คุณธรรม)
ไม่ทำได้หรือไม่ เอาจริงๆ ถ้าไม่ผิดกฎหมาย
ไม่ทำก็ได้ แต่ชื่อเสียงจะมีหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง การที่ธุรกิจจะได้รับการบอกต่อหรือไม่
ก็เกิดจากทั้ง 3 หลักนี้ คนเราจะบอกต่อ หรือให้คนรู้จักได้รับสิ่งที่เขาได้
ต้องเริ่มต้นจากความรู้สึกดีๆ ความไว้วางใจ และการได้รับความสุขจากธุรกิจ
สุดท้ายจะกลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรระยะยาวมากกว่ากำไรชั่วครู่ในเวลาสั้นๆ
และกำไรที่ได้รับนั้น จะมีกกว่าอีกคือ ความสุขและความภาคภูมิใจในการทำธุรกิจของตัวเอง
ดร.นารา