วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567

การวางแผนงบประมาณเชิงกลยุทธ์

 การวางแผนงบประมาณเชิงกลยุทธ์


งบประมาณเป็นแผนที่ทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นแผนที่ควบคุมการรับเงินและการจ่ายเงินขององค์กร หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นแผนการสูบฉีดเลือดขององค์กร ในทุกปีองค์กรจึงต้องจัดเตรียมแผนงบประมาณไว้ เพื่อให้รู้ว่าจะต้องจัดเตรียมเงินสดเท่าไหร่ เอาไปทำอะไร และจะมีรายได้แบบไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงบประมาณจะเจอปัญหาอยู่เสมอ เช่น งบประมาณไม่พอ ทำงบประมาณแล้วไม่ตอบโจทย์ ไม่รู้จะตั้งโครงการในงบประมาณอย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีวิธีการจัดการ ลองมาดูกัน

งบประมาณทำแล้วได้อะไร

ก่อนจะเริ่มเข้าใจแนวคิดของการทำงบประมาณ เราคงต้องรู้ก่อนว่า ทำงบประมาณองค์กรได้อะไรบ้าง นอกจากได้เงินมาทำงาน ประโยชน์ที่เกิดจากการทำงบประมาณ

  1. องค์กรเห็นภาพรวมว่า เงินที่เตรียมไว้มีนำหนักส่วนใหญ่ไปทางด้านใด
  2. องค์กรได้เห็นความครบถ้วนของการเตรียมเงินงบประมาณ
  3. องค์กรได้เห็นความเป็นไปได้ในการสร้างผลงานตามงบประมาณที่ใส่ลงไป
  4. ผู้ปฏิบัติงานรู้ว่าตัวเองต้องใช้ทรัพยากรเพื่อไปทำผลลัพธ์อะไรบ้าง

การทำงบประมาณที่ดีต้องตอบตัวชี้วัดกลยุทธ์

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า งบประมาณคือขนาดของทรัพยากรทางการเงินที่เราได้ใส่ลงไปในองค์กร (Input) เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการได้ ดังนั้น เพื่อให้การใช้เงินทุกบาทมีความคุ้มค่า เราต้องชัดเจนว่า เราต้องการอะไรกลับมาจากการทำงบประมาณ นั่นหมายความว่า การวางแผนทางกลยุทธ์ และการสื่อสารทางกลยุทธ์จะต้องชัดเจน เสร็จสิ้น และเข้าใจกันก่อนที่จะเริ่มทำแผนงบประมาณ หากไม่เป็นเช่นนั้น การทำงบประมาณ จะกลายเป็นว่า แต่ละส่วนอยากได้อะไร ก็ของบกันมาเพื่อสนองความต้องการของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่สนองความต้องการทางกลยุทธ์ขององค์กร การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดทางกลยุทธ์ ต้องสามารถตั้งค่าชี้วัดได้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า 

"ผลรวมของตัวชี้วัดย่อย (BU Goal) = ตัวชี้วัดหลักขององค์กร (Ultimate Goal)" 

ซึ่งเหมือนกับการออกแบบงบประมาณว่า

 "ผลรวมของงบประมาณฝ่ายงาน = งบประมาณรวมขององค์กร"

วิธีการจัดทำงบประมาณ

การจัดทำงบประมาณ ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพื่อให้รู้ว่าต้องการใช้เงินเท่าไหร่ในแต่ละช่วงเวลา

  • ขั้นที่ 1 กำหนดขนาดของงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการดำเนินงานตามปกติ รวมถึงเงินที่เป็นภาระผูกพันที่เคยสัญญาไว้ เช่น เงินกู้ หรือ ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายต่างๆ ซึ่งในขั้นตอนนี้ยังไม่ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลง หรือ การพัฒนาองค์กรแต่อย่างใด เงินจำนวนนี้ แสดงถึงขนาดของทรัพยากรขั้นต่ำที่ต้องการในการดำเนินการขององค์กร
  • ขั้นที่ 2 กำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินงานตามปกติที่เกิดขึ้น ภายใต้เงินงบประมาณขั้นที่ 1 จะทำให้รู้ถึงขนาดของต้นทุน หรือ ราคาต่อตัวชี้วัดเมื่อมีการดำเนินงานตามปกติ
  • ขั้นที่ 3 พิจารณารายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเทียบกับงบประมาณที่คำนวณมาได้ในขั้นที่ 1 แสดงเป็นเงินส่วนต่างๆ ซึ่งส่วนต่างในที่นี้จะประกอบไปด้วย กำไร และ เงินลงทุนเพื่อการพัฒนา
  • ขั้นที่ 4 กำหนดเป้าหมายการเติบโต และหาตัวชี้วัดที่แสดงถึงการเติบโตว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากนั้นจึงหาความแตกต่าง ของตัวชี้วัดที่ต้องการการเติบโต และ ตัวชี้วัดตามปกติ จะได้เป็นค่าตัวชี้วัดส่วนเพิ่ม (Marginal Growth) ซึ่งจะต้องใส่พลังงานลงไปหรืองบประมาณเท่าไหร่
  • ขั้นที่ 5 ออกแบบกิจกรรม โครงการ วิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดส่วนเพิ่ม เพื่อนำไปสู่การประมาณการงบประมาณ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้การพิจารณาว่า เงินที่จ่ายไป จะมีความคุ้มค่ากับตัวชี้วัดที่เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เป็นความคุ้มค่าต่อเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น
  • ขั้นที่ 6 ปรับแต่งงบประมาณให้ลงตัว เนื่องจากการจัดทำงบประมาณครั้งแรก จะมีส่วนขาดส่วนเกินเสมอ รวมทั้งจะเหมือนกับการทดลองทำการวิเคราะห์ตัวแบบทางการเงิน ซึ่งเมื่อพบว่าขั้นตอนที่ 5 ยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการขององค์กร สามารถปรับวิธีการในการเติบโต หรือ ปรับสัดส่วนของเงินงบประมาณ ปรับขนาดของกำไรที่คาดหวังได้ จากทุกอย่างลงตัวที่สุด และสุดท้ายจึงสรุปออกมาเป็นงบประมาณต้นปีที่สมบูรณ์ได้
  • ขั้นที่ 7 นำไปปฏิบัติ ควบคุม และ ปรับตัวเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เพื่อทำให้ผลลัพธ์องค์กร อยู่ในระดับที่ต้องการ

ทั้งหมดคือแนวคิดเบื้องต้นในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้กันได้

ดร.นารา

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจต้นทุนต่ำ

 การต่อสู่ระหว่างเศรษฐกิจต้นทุนต่ำกับ เศรษฐกิจคุณภาพสูง


จากปรากฏการณ์ในสงครามการค้าระหว่างประเทศที่สินค้าจีนได้มีการบุกหนักไปยังประเทศต่างๆในหลากหลายช่องทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของ e-commerce ผ่านทาง Application ชนิดต่างๆจนทำให้ยักษ์ใหญ่ E-commerce ของอเมริกายังต้องสั่นสะเทือน เหตุผลหลักๆเลยที่ประเทศจีนสามารถที่จะทำการผลิตสินค้าให้มีราคาถูกได้เพราะการบริหารต้นทุนซึ่งมีการส่งเสริมมาตั้งแต่นโยบายและการลงทุนของภาครัฐจนถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตของภาคเอกชน ตั้งแต่ระบบพื้นฐานที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบขนส่งถนนท่าเรือมีการสร้างยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งเอาไว้อย่างต่อเนื่องและมีความชัดเจนถึงเป้าหมายของการสร้างยุทธศาสตร์นั้น ประเทศจีนยังเป็นประเทศที่มีแรงงานขนาดใหญ่จนกระทั่งทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจนถึงจุดต่ำสุดของต้นทุนหรือเรียกว่าการประหยัดต่อขนาดได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ขณะเดียวกันเองยังมีการทำวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมต่างๆที่ทำให้สามารถที่จะผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการวิจัยทางด้านอุตสาหกรรมและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นแล้วประเทศจีนเคยเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพเน้นการผลิตให้ได้จำนวนมากๆซึ่งนั่นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการผลิตในระดับมหาศาลและต้นทุนที่ต่ำอย่างน่าเหลือเชื่อและส่งออกไปทั่วโลก ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ถ้าจะกล่าวอีกชื่อหนึ่งคงเรียกได้ไม่ยากว่า ระบบเศรษฐกิจต้นทุนต่ำหรือ Low-cost economy

ซึ่งวิธีการคิดในระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะเป็นวิธีการคิดที่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับระบบเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นเพราะประเทศเหล่านี้จะเน้นถึงการสร้างสินค้าที่มีคุณภาพมีราคาสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มจนทำให้สินค้าหลายๆชนิดมีราคาที่สูงมากและพยายามที่จะสร้างแบรนด์เพื่อให้สร้างความจงรักภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์นั้นๆ ซึ่งเราสามารถเรียกได้ว่า High-Quality economy

แต่ในขณะที่สินค้าจากประเทศจีนได้เดินทางไปถึง ประเทศต่างๆทั่วโลกผู้บริโภคกลับพบว่าสินค้าหลายชนิดไม่ได้จำเป็นที่จะต้องซื้อในราคาแพงและมีคุณภาพสูงเนื่องจากมีต้นทุนในการเปลี่ยนสินค้าไม่สูงมากนัก จึงเห็นว่าการที่สินค้าราคาถูกซื้อง่ายใช้ง่ายเบื่อก็ทิ้งไปเป็นทางเลือกที่ดีที่จะประหยัดเงินในกระเป๋าและสอดคล้องกับยุคที่มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากทำให้หลายคนยอมลดระดับคุณภาพของสินค้าไปซื้อสินค้าราคาถูกได้

ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างอะไรกันกับประเทศต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เป็น SME เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองได้จะเป็นแต่การนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมต่างๆประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสินค้าที่ตัวเองต้องการผลิตและส่งออกไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยอาศัยความได้เปรียบจากการที่มีแรงงานในราคาที่ยังไม่สูงมากและมีคุณภาพของฝีมือแรงงานที่ค่อนข้างดี

แต่เมื่อสินค้าจากจีนที่มีราคาถูกมากถูกกว่าสินค้าจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 เท่าและฝีมือแรงงานของประเทศจีนก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นเหตุให้ SME ไม่สามารถปรับตัวได้ทันแล้วหันกลับไปนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาจำหน่ายแต่ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ว่าฝันร้ายก็มาถึงเมื่อประเทศจีนกลับเปิดการค้าโดยตรงผ่านระบบ e-commerce และให้สินค้าวิ่งตรงจากโรงงานสู่มือผู้บริโภคโดยที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางในประเทศไทยนั่นหมายความว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากโดยเฉพาะธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปโดนคู่แข่งกับยักษ์ใหญ่ทางด้าน e-commerce จากประเทศจีนทันที

แล้วเราจะทำอย่างไร แน่นอนที่สุดลูกค้าย่อมมีหลายประเภทลูกค้าประเภทที่สนใจเรื่องราคาเป็นหลักก็ย่อมพร้อมที่จะรับความเสี่ยงกับสินค้าที่มีคุณภาพต่ำและพร้อมที่จะซื้อใหม่ได้อยู่ตลอดเวลาสินค้าประเภทนี้ก็จะเป็นสินค้าที่ไม่เน้นความคงทนหรือสินค้าที่ไม่เน้นคุณภาพสูงมากเช่น เสื้อผ้า เครื่องเขียน อุปกรณ์เบ็ดเตล็ดทั่วไป จะสังเกตได้ว่าสินค้าพวกนี้จะอยู่ในร้าน 20 บาทอยู่ในทุกหัวมุมถนนของประเทศไทย
ส่วนลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเน้นเรื่องคุณภาพ สินค้าเหล่านี้จะเป็นสินค้าที่ต้องนำไปใช้งานต่อหรือสินค้าระดับมืออาชีพที่ต้องอาศัยการมีคุณภาพของเครื่องหมายเครื่องมือหรือของวัตถุดิบหรือของเครื่องใช้ต่างๆเพื่อให้งานออกมาตามที่ต้องการ ดังนั้นธุรกิจ SME ไทยจึงต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าของตนเองเสียก่อนอย่าพยายามไปแข่งในเกมที่เราไม่สามารถสู้ได้ หากสินค้าจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพก็ต้องชัดเจนกับกลุ่มลูกค้าว่ากลุ่มลูกค้าใดที่ต้องการคุณภาพของสินค้าเพื่อเอาไปใช้งานหรือสร้างประโยชน์ มากกว่าการขายสินค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าอีกแล้ว

ในทางตรงกันข้ามหากลูกค้าไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพมากนักและสนใจเรื่องของราคานั่นหมายความว่าสินค้าจากจีนย่อมได้เปรียบสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยอยู่แล้วเราจึงมีหน้าที่ในการที่จะช่วยกันพัฒนาเทคนิคการผลิตเพื่อทำให้เกิดการลดต้นทุนรวมไปถึงการขยายขนาดของการผลิตให้มีความคุ้มค่าในการผลิตมากยิ่งขึ้นเป็นการหาจุดแข็งบางอย่างเพื่อสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ให้ได้มากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้นการผลิตสินค้าของประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก จะต้องไม่ผลิตด้วยความเคยชินหรือผลิตด้วยกรอบแนวคิดเดิมๆ ผู้ผลิตต้องมีความพร้อมและศึกษาถึง Pain Point ของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอเพื่อสามารถที่จะประยุกต์ และประดิษฐ์ คุณลักษณะของสินค้าให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่เน้นแต่สินค้าที่มีแต่รูปลักษณ์สวยงามหรือการดีไซน์เท่านั้น

สงครามการค้าในครั้งนี้ยังคงต้องเดิมพันกันอีกยาวไกลจนกว่าจะมีธุรกิจใดที่ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันในการแข่งขันได้ล้มหายตายจากออกจากกัน เวลานั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวใหม่ของผู้ผลิตรายใหม่ๆเข้ามาเรื่อยๆแต่หวังว่ายังคงมีพื้นที่ให้กับผู้ผลิตและ SME ของประเทศไทยอยู่ในเวทีโลก

ทั้งนี้ก็คงต้องฝากความหวังเอาไว้ลึกๆกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยชะลอการเข้ามาของสินค้าจากประเทศจีนที่อยู่ในระบบของ ระบบเศรษฐกิจต้นทุนต่ำ และส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศไทยให้สามารถลดต้นทุนได้อย่างเป็นระบบ มีขนาดอย่างเป็นนัยยะสำคัญในระดับประเทศ รวมถึงส่งเสริมวิธีการคิดของอุตสาหกรรมให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วปรับได้เปลี่ยนได้อยู่ตลอดเวลา ไม่ยึดติดต่อความสำเร็จในอดีตที่เคยมีมาและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า หรือเรียกได้ว่าสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้อยู่ตลอดเวลาในทุกๆวัน

ดร.นารา

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2567

กระบวนการการจัดการข้อมูลขององค์กร

 

กระบวนการการจัดการข้อมูลขององค์กร

Organizational Data Management Process


การเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมเศรษฐกิจ ของมนุษย์ในช่วงยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นต้นมา ทำให้สังคมของมนุษย์มีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นจนองค์กรต่างๆที่อยู่ภายใต้สังคมต้องมีการปรับตัวโดยการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการดำเนินการขององค์กรหรือการแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันข้อมูลต่างๆก็ถูกสร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมากโดยการใช้เทคโนโลยีหรือมีรูปแบบวิธีการวัดข้อมูลต่างๆให้อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น จึงทำให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพยายามที่จะจัดการกับข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำหรือช่วงชิงความได้เปรียบจากการมีข้อมูล

แต่อย่างไรก็ตามการจัดการข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นมาดำเนินการจัดการข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลสามารถระบุถึงความจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งวิธีการจัดการข้อมูลนั้นอยู่ในรูปแบบของกระบวนการตั้งแต่การวัดข้อมูลจนไปถึงการนำเสนอข้อมูล รวมทั้งหมด 4 ขั้นตอน

  1. การวัดและจัดเก็บข้อมูล
  2. การจัดเรียงและวิเคราะห์ข้อมูล
  3. การแปลความหมายข้อมูล
  4. การนำเสนอข้อมูลและสิ่งที่ได้จากข้อมูล

การวัดและจัดเก็บข้อมูล

โดยธรรมชาติแล้วข้อมูลที่อยู่ในองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐเอกชนหรือธุรกิจต่างๆจะเผชิญหน้ากับข้อมูลที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและข้อมูลเกือบทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบของตัวเลขเพียงแต่ว่าองค์กรจะต้องเลือกเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ข้อมูลความรู้สึกที่มีต่อตราสินค้า หรือข้อมูลความเชื่อที่มีต่อการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากองค์กร องค์กรไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลทุกชนิดที่เกิดขึ้นในรอบๆองค์กรได้หากแต่องค์กรจะต้องเรียนรู้ในการระบุปัญหาที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจและระบุว่าข้อมูลนั้นคือข้อมูลใดมีลักษณะของข้อมูลเป็นรูปแบบใด วิธีการจัดเก็บจะสามารถทำได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ให้กับผู้ที่ดำเนินการในการจัดการข้อมูลที่จะต้องระบุให้ชัดเจนถึงรูปแบบลักษณะและตัวแปรที่กำหนดข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องต่อการแก้ปัญหาในแต่ละครั้ง

ดังนั้นกระบวนการการวัดและจัดเก็บข้อมูลจึงต้องอาศัยทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบริบทของปัญหาพร้อมทั้งระบุได้ว่าข้อมูลอะไรที่องค์กรจะต้องจัดเก็บ โดยการใช้เครื่องมืออะไรในการจัดเก็บรวมถึงการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลนั้นมีความแม่นยำและปลอดภัยที่สุด

การจัดเก็บข้อมูลถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการข้อมูลที่สำคัญเพราะถ้ามีการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่เรียบร้อย เป็นระบบ ถูกต้อง และมีความต่อเนื่อง จัดส่งผลต่อไปยังขั้นตอนอื่นๆของขบวนการจัดการข้อมูลไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการวิเคราะห์รวมไปถึงโอกาสที่จะแปลความหมายของข้อมูลได้ผิดพลาด อันเป็นการนำไปสู่การตัดสินใจหรือการออกนโยบายที่ผิดพลาดขององค์กร

การจัดเรียงและการวิเคราะห์ข้อมูล

หลังจากที่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลที่ได้ระบุเอาไว้ในขั้นตอนแรกแล้วข้อมูลเหล่านี้จะต้องถูกนำมาแปรสภาพจากข้อมูลดิบสู่สารสนเทศเพื่อให้ข้อมูลสามารถบ่งบอกถึงเหตุการณ์ ด้วยเทคนิคต่างๆไม่ว่าจะเป็นเทคนิคทางสถิติเทคนิคทางคณิตศาสตร์ หรือเทคนิควิทยาศาสตร์ข้อมูล เทคนิคต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติและรูปแบบของข้อมูลซึ่งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักสถิติ ได้คิดคนขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกจัดการได้อย่างถูกต้องและมีความแม่นยำที่สุดให้สามารถตอบถึงปัญหาเฉพาะจุด จับข้อมูลที่เก็บมาได้ การวิเคราะห์ข้อมูลจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่นักจัดการข้อมูลจะต้องเลือกใช้เทคนิคและวิธีการต่างๆให้ได้คำตอบที่ต้องการให้สามารถตอบสนองต่อความหลากหลายของข้อมูลในรูปแบบและจำนวนได้ ยิ่งไปกว่านั้นการวิเคราะห์ข้อมูลยังอาจใช้เครื่องมือที่มีความสลับซับซ้อนเช่นคอมพิวเตอร์ที่มีขีดความสามารถสูงหรือรูปแบบโปรแกรมใหม่ๆ ตลอดจนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่มาช่วยในการประมวลผล

การวิเคราะห์ข้อมูลสามารถแบ่งออกเป็นรูปแบบใหญ่ๆได้ดังนี้คือ การจัดเรียงข้อมูล การเปรียบเทียบข้อมูล และการพยากรณ์จากข้อมูล

การจัดเรียงข้อมูลเป็นการนำข้อมูลมาเรียงร้อยในเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้เพื่อให้สะดวกต่อการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่เกิดขึ้นรวมไปถึงการจัดเรียงข้อมูลช่วยทำให้ข้อมูลมีความเป็นระเบียบทำให้สามารถสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติของข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งจากความผิดปกติในเหตุการณ์หรือความผิดปกติของข้อมูลเอง

การเปรียบเทียบข้อมูล เป็นการวิเคราะห์ที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบค่ากลางของข้อมูล การเปรียบเทียบความเข้ากันได้หรือการจัดกลุ่มข้อมูล การเปรียบเทียบขนาด การเปรียบเทียบรูปแบบการเคลื่อนไหว สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นต้องอาศัยการคำนวณด้วยเครื่องมือและเทคนิคต่างๆเพื่อให้ยืนยันว่าข้อมูลที่มีความหลากหลายนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มหรือแต่ละจุดที่ทำการเปรียบเทียบจริงหรือไม่ และยังรวมไปถึงการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูล ซึ่งข้อมูลอาจจะอยู่ในรูปแบบของภาคตัดขวางหรือเป็นแบบอนุกรมเวลาก็ได้ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลจึงต้องอาศัยความรู้และเทคนิคทางสถิติและคณิตศาสตร์เข้ามาประกอบกับทักษะในการเลือกใช้เครื่องมือต่างๆทางสถิติและคณิตศาสตร์ให้เหมาะสมกับข้อมูลที่เกิดขึ้นนอกจากนั้นยังต้องเรียนรู้ในการประยุกต์ทฤษฎีทางสถิติและคณิตศาสตร์ต่างๆเพื่อใช้ในการตอบโจทย์ปัญหาทางการตัดสินใจขององค์กรได้

ในขั้นสุดท้ายของการวิเคราะห์ข้อมูลคือการพยากรณ์ข้อมูลเป็นการใช้ข้อมูลในอดีตเพื่อที่จะพยายามบอกว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นในโอกาสต่อไปหรือในอนาคตจะเป็นอย่างไรโดยอาศัยรูปแบบการทำซ้ำของข้อมูลซึ่งจะอยู่ในวิธีการของการสร้างสมการ หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ก็ได้

การแปลความหมายข้อมูล

หลังจากที่ข้อมูลได้ถูกวิเคราะห์และได้ค่าการวิเคราะห์ต่างๆออกมาแล้วนักการจัดการข้อมูลจะต้องนำค่าเหล่านั้นมาเรียงร้อยกันเพื่ออธิบายว่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลต่างๆนั้นเกิดอะไรขึ้นพร้อมทั้งมีเหตุผลในการรองรับเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทหรือปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ได้มา ในการแปลความหมายข้อมูลจึงต้องอาศัยประสบการณ์และหลักการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลต่างๆเพื่อให้สามารถอธิบายสิ่งที่อยู่เบื้องหลังและเป็นข้อความจริงได้มากที่สุดรวมถึงสามารถที่จะอธิบายในมิติต่างๆของบริบทหรือเหตุการณ์นั้นๆ พูดที่สามารถแปลความหมายข้อมูลได้ดีจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปสู่การสร้างวิธีการแก้ปัญหาหรือแนวทางการตัดสินใจที่มีความหลากหลายและสร้างสรรค์ได้มากยิ่งขึ้น

การแปลความหมายข้อมูลจึงมีความเป็นศิลปะที่อยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์และต้องอาศัยความรู้ในการพิสูจน์ความจริงว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมาในสมมติฐานข้อมูลสามารถอธิบายได้อย่างไรและมีอะไรที่เป็นการยืนยันถึงความจริงที่เกี่ยวข้องในบริบทตรงนั้น

การนำเสนอข้อมูลและสิ่งที่ได้จากข้อมูล

หลังจากที่นักการจัดการข้อมูลได้ทำการจัดการข้อมูลวิเคราะห์และแปลความหมายต่างๆแล้วข้อมูลเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อนำข้อมูลไปสร้างเป็นแนวทางในการปฏิบัติ การแก้ปัญหา การตัดสินใจ รวมไปถึงการชักจูงใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นสามารถที่จะดำเนินการภายใต้ข้อบ่งชี้ของข้อมูลเดียวกัน

การนำเสนอข้อมูลจึงเป็นการสร้างทักษะที่จะเลือกข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญเพื่อให้ผู้ที่ได้รับฟังนั้นปฏิบัติตามตามวัตถุประสงค์ของผู้นำเสนอเช่น การทำให้เข้าใจ การทำให้เชื่อและคล้อยตาม ตลอดจนการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลเป็นการทั้งย่อและย่อยข้อมูลที่เกิดขึ้นกับจำนวนมากไปสู่จุดที่สามารถเข้าใจได้โดยง่ายและให้ผู้ที่ได้รับฟังข้อมูลนั้นเชื่อพร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างทางด้านพฤติกรรมของผู้รับฟังข้อมูล ซึ่งจะต้องอาศัยเทคนิคการนำเสนอ อย่างมีตรรกะทางความคิด ที่น่าสนใจจนเกิดการกระตุ้นถึงความต้องการหรือพฤติกรรมของคนอื่นได้

การนำไปใช้สำหรับองค์กร

ในการจัดการข้อมูลหากเป็นองค์กรขนาดเล็กไม่มีตัวเลือกหรือผู้มอบหมายงานได้มากนัก ทุกคนในองค์กรจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลหรือมีคนที่รับผิดชอบทางด้านข้อมูลเช่นเจ้าของหรือผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเป็นผู้ดำเนินงานเกี่ยวกับข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้ผู้ที่ตัดสินใจนั้นสามารถใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ในกรณีขององค์กรขนาดใหญ่เป็นองค์กรที่มีทรัพยากรบุคคลที่สามารถมอบหมายงานและให้การทำงานที่เกี่ยวกับข้อมูลสามารถกระจายไปยังหลายภาคส่วนได้ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพียงบุคคลเดียวและรับผิดชอบทุกอย่างเกี่ยวกับข้อมูลขึ้นอยู่กับวิธีการวางแนวทางในการปฏิบัติและการต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล รวมไปถึงการมอบหมายงานที่อยู่ในคำอธิบายงานหรือคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา แต่ทั้งนี้ผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลและมีเกณฑ์ชี้วัดที่ถูกต้องว่าข้อมูลนั้นได้ทำการจัดการได้อย่างถูกต้องตามที่ได้กำหนดเอาไว้หรือไม่

การมอบหมายหน้าที่ในการจัดการข้อมูล

ในกระบวนการของการวัดและการจัดเก็บข้อมูลสามารถมอบหมายไปให้ผู้ปฏิบัติงานที่อยู่หน้างานหรือผู้ที่พบเจอกับข้อมูลหรือแหล่งกำเนิดของข้อมูลเป็นผู้จัดเก็บ องค์กรต้องตระหนักถึงว่าการจัดเก็บข้อมูลนั้นจะต้องไม่เป็นภาระที่เกินกว่าจำเป็นรวมไปถึงเป็นการสร้างความยุ่งยากในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้วย หากเป็นไปได้องค์กรจะต้องออกแบบเครื่องมือในการวัดและการจัดเก็บข้อมูลที่ในรูปแบบของออโตเมติกโดยการใช้เครื่องจักรหรือเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการวัดข้อมูลและนำไปสู่การบันทึกในระบบที่เป็นอัตโนมัติ โดยที่ผู้ที่อยู่หน้างานเป็นผู้ตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นยังถูกจัดเก็บอย่างสม่ำเสมอเป็นไปตามปกติหรือไม่ คอยตรวจสอบว่ามีสิ่งบ่งชี้ถึงความผิดปกติของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลหรือไม่เช่นมีค่าบางค่าที่สูงหรือต่ำผิดปกติซึ่งผู้วัดและจัดเก็บข้อมูลจะต้องเป็นผู้ที่รายงานความผิดปกตินั้นให้กับผู้ที่รับผิดชอบได้ทราบตามนโยบายที่กำหนดหรือโดยเร็วที่สุด

การวิเคราะห์ข้อมูล

ในการมอบหมายงานขององค์กรการวิเคราะห์ข้อมูลไม่ได้จำเป็นจะต้องอยู่แต่เฉพาะฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้นแต่หากว่าองค์กรสามารถที่จะเสริมสร้างทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้นเพื่อทำการตรวจสอบหรือประเมินลักษณะการปฏิบัติงานตามปกติ ก็จะสามารถช่วยให้องค์กรมีผู้เฝ้าระวังผ่านทางข้อมูลที่เกิดขึ้นขององค์กรได้จำนวนมากและสามารถช่วยให้มีการปรับตัวหรือตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่บุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยตรงบุคลากรเหล่านี้ก็จะเป็นการสร้างแนวคิดใหม่ๆหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่องค์กรมีเพื่อให้เกิดแนวทางของการออกแบบกลยุทธ์หรือวิธีการแก้ปัญหา หรือนโยบายใหม่ๆที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถอธิบายถึงเหตุการณ์ที่องค์กรสนใจหรือปัญหาได้

        การแปลความหมายของข้อมูล

เป็นทักษะหนึ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลทุกคนจำเป็นจะต้องมีเพื่อให้รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นกำลังอธิบายถึงเรื่องอะไร แต่รูปแบบรายการแปลความหมายของข้อมูลจะมีทั้งการแปลความหมายที่มีความซับซ้อนสูงหรือเป็นการแปลความหมายขั้นพื้นฐานขึ้นอยู่กับว่าองค์กรได้มอบหมายให้ใครปฏิบัติหน้าที่ได้มากน้อยขนาดไหน ผ่านทางนโยบายขององค์กรที่จะต้องทำการอธิบายและเสริมสร้างทักษะให้กับผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรได้เข้าใจและสามารถทำได้อยู่ในรูปแบบหรือมาตรฐานเดียวกัน

        การนำเสนอข้อมูลและสิ่งที่ได้จากข้อมูล

สิ่งนี้ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญของผู้นำเสนอไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลหรือผู้บริหารขององค์กร เนื่องจากเป็นการนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลหรือที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลในขั้นต้นแต่จำเป็นต้องอาศัยทักษะหรือการทำงานร่วมกันบางประการ บางครั้งการนำเสนอข้อมูลอาจจะอยู่ในรูปแบบของการรายงานในที่ประชุม การแถลงผลงานประจำปี การประชุมเพื่อแจ้งถึงนโยบายใหม่ และการเขียนรายงานเพื่อนำไปสู่ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

การนำเสนอข้อมูลและรายงานสิ่งที่ได้จากข้อมูลถือว่าเป็นการบูรณาการทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม การวิเคราะห์ และการตีความหมาย นำมาสรุป ย่อ ย่อย ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับฟังรับรู้หรือรับทราบ ดังนั้นผู้ที่นำเสนอข้อมูลจึงต้องมีความเข้าใจในกระบวนการของการบริหารข้อมูลทั้งหมดและสามารถชี้ประเด็นที่มีความสำคัญเกี่ยวกับทุกข้อมูลที่ต้องการนำเสนอได้อย่างเป็นเหตุและเป็นผล

หากองค์กรใดมีความเข้าใจในการใช้ข้อมูลและสามารถพัฒนาบุคลากรของตนเองให้สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้รวมไปถึงมีระบบและวิธีการจัดเก็บข้อมูล ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหรือข้อมูลที่เกิดจากการตกผลึกองค์ความรู้จากการบริหารข้อมูลและใช้ข้อมูลมาแล้วองค์กรต่างๆเหล่านี้ก็ย่อมที่จะได้เปรียบในการแข่งขันรวมไปถึงสามารถตัดสินใจได้เป็นข้อเท็จจริงที่มีความแม่นยำและตอบสนองต่อปัญหาต่างๆขององค์กรได้ในที่สุด

 ดร.นารา กิตติเมธีกุล



วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567

จาก OVOP สู่ OTOP จนกลายมาเป็น Soft Power

 จาก OVOP สู่ OTOP จนกลายมาเป็น Soft Power

เมื่อพูดถึงสินค้าชุมชชน จุดกำเนินที่ทำให้เกิดการตะหนัก รับรู้ และเป็นแบบอย่างของบรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลกคือ สินค้า OVOP หรือ One Village One Product มีจุดกำเนินที่จังหวัด Oita ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วย เมือง  BeppuNakatsu, and Saiki จุดเริ่มต้นเริ่มเมื่อปี 1979 ที่ได้ให้ชุมชนสรรหาผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่ด ใช้ทรัพยากรที่มีเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ จนสามารถสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง และประเทศไทยได้เห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ และนำมาสู่ OTOP ในประเทศไทย

แต่ความสำเร็จของ OVOP ไม่ได้อยู่เพียงแต่การทำสินค้าให้ดีและทำบรรจุภัณฑ์สวยๆ เท่านั้น ซึ่งหากใครคิดแบบนี้นับว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะว่า สินค้าที่นำมาขายนั้น จะมีองค์ประกอบที่เด่นชัด 3 ประการ

1. มีความชัดเจนในลักษณะของสินค้า

สินค้าแต่ละชนิดต้องสามารถระบุถึงความชัดเจนของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติ การใช้วัตถุดิบ และคุณภาพที่แหล่งการผลิตที่อื่นไม่สามารถทำให้เหมือนได้ แต่ไม่ได้บอกว่าที่อื่นจะทำสินค้าเดียวกันไม่ได้ เพียงแต่ คุณลักษณะของสินค้าจะมีความแตกต่างกันเท่านั้น

2. มีประวัติความเป็นมาของสินค้า

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดถามวิถึของ Zen ซึ่ง หมายความว่า จะมีการสะสมองค์ความรู้ ประวัติความเป็นมา และแนวคิดเอาไว้อยู่ในสินค้ามาอย่างยาวนาน ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อ 1 คือสินค้ามีความโดดเด่นในตัวของมันเอง

3. ทำให้เป็นอุตสาหกรรม

หากเราไปสังเกตุดีๆ สินค้า OVOP จะมีวิธีการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบรรจุภัณฑ์ หรือ การวิเคราะห์สารอาหารต่างๆ รวมถึงความนิ่งของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานระดับอุตสาหกรรมที่ทุกชิ้น ต้องมั่นใจได้ว่า มีรถชาติ ขนาด กรรมวิธีในการผลิตที่เหมือนกัน 

ด้วย 3 ปัจจัยว่ามานี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สินค้าที่จะได้ได้นั้น ต้องอาศัยความเป็นอุตสาหกรรมในการผลิต และมีความเป็นวิทยาศาสตร์ ความปลอดภัย และมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เป็นอาหาร 

สำหรับประเทศไทย หลายคนยังเข้าใจผิดว่า การทำสินค้าชุมชนให้ดีนั้นต้องทำให้ได้คุณภาพดีๆ และทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยๆ พร้อมใส่เรื่องราวลงไปด้วย ซึ่งก็ถูก แต่ไม่ทั้งหมด เพราะยังขาดเรื่องขั้นตอนการทำเป็นอุตสาหกรรม ขาดการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และการจดทะเบียน อย. ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภครับทราบถึงมาตรฐานของสินค้าต่างๆ 



นอกจากนั้นยังต้องสร้างการต่อยอดของสินค้าไปสู่เวทีโลก ซึ่งการผลิตสินค้าชุมชน ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกชุมชนก็ได้ เอาชุมชนที่มีการสะสมประวัติ คุณภาพ และองค์ความรู้ ไปสู่การต่อยอดในอุตสาหกรรม

มาถึงเรื่อง Soft Power หากมาองดีๆ ก็ถือว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ต้องอาศัยการส่งเสริมระดับอุตสากรรม ไม่ใช่ชุมชน ไม่ใช่การนำศิลปะการแสดงมาแสดงให้โลกเห็น แต่ต้องมีการวางแผนการสร้างความประทับใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Soft Power สามารถอยู่ในรูปแบบของ ศิลปะ การศึกษา การแพทย์ การให้ทุนช่วยเหลือ ศาสนา กีฬา การ์ตูน นิยาย ภาพยนต์ อะไรก็ได้ที่ทำให้คนรู้สึกดีกับประเทศหรือชุมชนของเรา นั่นหมายถึงว่า เราสามารถนำสินค้าชนิดอื่นไปพ่วงเพื่อขยายตลาด ขาย หรือ สร้างความเชื่อใหม่ๆ ให้หับผู้คนทั่วไปได้

ปัจจัย 3 ประการของสินค้า OVOP ก็สามารถเข้ามาอยู่ใน Soft Power ได้ คือ

1. การนำเสนอต้องดี มีคุณค่าทางจิตใจและชีวิตของผู้คนทั่วโลก ถ้าเป็นการ์ตูน ภาพยนต์ เพลง ต้องทำให้รู้สึกว่า ติด ชอบ รัก และหลง ถ้าเป็นการศึกษา การแพทย์ ก็ต้องทำให้ศรัทธา มีแต่ภาพทางบวกในความทรงจำ

2. มีประวัติที่ทำให้รู้สึกว่า น่าติดตาม น่าค้นหา น่าภาคภูมิใจ มีการถอดบทเรียนความสำเร็จ และให้ความรู้กับผู้คนทั่วโลกว่า มีอะไรดี ดียังไง อย่างประวัติศาสตร์อเมริกา กลายเป็นรากฐานของประชาธิปไตย หรือประวัติศาสาสตร์จีนโบราญ มีปรัชาญาการใช้ชีวิตแฝงในเรื่องราวต่างๆ และต้องพิสูจน์ได้จริงทางวิชาการ

3. มีความเป็นอุตสาหกรรม คือ ต้องมีนานทุนมาสนับสนุน เพราะการสร้าง Soft Power ต้องใช้ทุน ใช้คนจำนวนมาก และใช้เวลานาน ดังนั้น ระดับชุมชน ที่ไม่เป็นองค์กรที่มีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน เป็นอะไรทียากมากจะสามารถสร้างผลกระทบได้ในวงกว้า โดยส่วนใหญ่เราจะเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้นเอง

ประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำบทเรียนมาถอด วิเคราะห์ และสร้างกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ พร้อมธิบายให้กับคนรุ่นหลังได้ว่า ทำไปเพราะอะไรแล้ว

ดร.นารา

วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2567

6 ระบบการคิดของมนุษย์

 6 ระบบการคิดของมนุษย์ 6 Thinking Systems of Human



เมื่อมนุษย์ต้องคิดมากขึ้น


หลังจากที่โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ได้มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมายที่มาช่วยให้มนุษย์ทำงานง่ายขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มาช่วยคิดแทนมุษย์มากยิ่งขึ้น อย่างในช่วงปลายปี 2022 ได้เกิด Chat GPT ขึ้นในรูปแบบที่ให้บุคคลทั่วไปใช้ได้ ทำให้คนทั้วโลกเกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ว่า จะมาคิดแทนมนุษย์ทั้งหมดในเวลาอันรวดเร็ว จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ที่มีการคำนวน คิดวิเคราะห์ด้วย อัลกอลึทึมขั้นสูง ได้มานานแล้ว มาช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้น จึงทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และต้องคิดมากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจาก ระบบการคิดจำนวนมากถูกคอมพิวเตอร์ทำงานแทนไปหมดแล้ว ทำให้มนุษย์ต้องทำงานที่ใช้ความคิดที่มีความแยบคาย ซับซ้อน และสร้างสรรค์มากขึ้น


การคิดของมนุษย์ที่ต้องนำมาใช้งาน จะมีหลายๆ อย่างปนกันอยู่ ซึ่งการคิดเหล่านี้ จะเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ในสมองอันชาญฉลาดของนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม การคิดเป็นสิ่งที่มนุษย์ชอบ และไม่ชอบในเวลาเดียวกัน การที่มนุษยชอบคิด เพราะมนุษย์ได้คิดได้ตอบ และสนุกกับการคิด เพื่อได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ให้กับตัวเองตลอดเวลา แต่สิ่งที่ไม่ชอบเนื่องจากการคิดก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่งถ้ามนุษย์คิดอย่างหนักหน่วงทั้งวัน พลังงานที่มีอยู่ของมนุษย์จะไม่เพียงพอในการดำรงชีพ


ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดีคือ สมองมนุษย์สามารถฝึกได้ตลอดชีวิต ดังนั้น หากเราฝึกคิดมากๆ ให้เกิดความชำนาญ สมองมนุษย์จะให้พลังงานน้อยลงในการคิด และสามารถคิดได้เร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีเส้นใยประสาทที่เพิ่มมากขึ้นในสมองที่ต้องใช้คิด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสมองส่วนหน้า ประเด็นคือมนุษย์ต้องฝึกคิดเรื่องที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถคิดได้ เพื่อให้มนุษย์ยังสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ให้มาช่วยงานมนุษย์ได้ การคิดเหล่านี้ เป็นการคิดที่เชื่อมต่อกัน เป็นระบบการคิดของมนุษย์ที่มีความต้องการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2023-2027 ระบบการคิดเหล่านี้ เรียกว่าระบบการคิดเพื่อการหาความจริงและสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหา ประกอบไปด้วย การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Thinking) การคิดอย่างมีตรรกะ และการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) 


การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)


การคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นการคิดเพื่อการแยกแยะประเด็นต่างๆ ว่ามีกี่ประเด็นในเรื่องราวที่เกิดขึ้น เป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจของทุกสิ่ง เมื่อเราต้องการรู้จักอะไรที่ลึกซึ้ง เราต้องทำการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เหล่านั้นออกมาว่า มีกี่ประเด็น มีกี่องค์ประกอบ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถจัดกลุ่มได้ว่า มีอะไรที่เหมือนกัน หรือแต่กต่างกัน ดังนั้น คนที่สามารถวิคเราะห์เรื่องราวต่างๆ ได้ดี จะเป็นคนที่สามารถจับประเด็น เห็นประเด็น และรวมประเด็นเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี มีเหตุผล ในการแยก และการรวมเข้าด้วยกัน สามารถอธิบายถึงเงื่อนไขการแยกประเด็นได้ดี 


นอกจากการแยกประเด็นแล้ว การคิดเชิงวิเคราะห์ ยังรวมถึงการเปรียบเทียบประเด็นต่างๆ ว่า แต่ละประเด็นนั้น เท่ากัน หรือต่างกัน อะไรมามากกว่า อะไรน้อยกว่า ในเกณฑ์การวัดที่กำหนด และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อนำไปสู่งการพยากรณ์ หรือการสังเคราะห์สิ่งใหม่ๆ ออกมาในอนาคตหรือในลำดับต่อไป


การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking)


การคิดอย่างเป็นระบบ เป็นการต่อยอดของการคิดเชิงวิเคราะห์ เพื่อนำประเด็นต่างๆ ของการคิดเชิงวิเคราะห์ มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน มีจุดเริ่มต้น และมีจุดสิ้นสุด โดยอาศัยความสัมพันธ์ของแต่ละประเด็น ซึ่งผู้คิดอาจจะใช้จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ หรือแนวคิดทางทฤษฎีต่างๆ ที่มี ที่ได้ค้นคว้าวิจัย มาเป็นโครงสร้างในการเรียงร้อยประเด็นต่างๆ การคิดอย่างเป็นระบบ จะมีลักษณะที่สำคัญคือ มีลำดับขั้นของความคิดที่ชัดเจน มีจุดเริ่มต้น และมีจุดสิ้นสุด สามารถอธิบายได้ และมีความสอดคล้องกันในทุกๆ จุดของการคิด นั่นหมายความว่า เมื่อต้องมีการอธิบายซ้ำ สามารถอธิบายได้เหมือนเดิม มีความคงเส้นคงว่า และครบถ้วนในขบวนการคิดหรือการทำงานที่ต้องผ่านการคิด


การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)


การคิดเชิงวิพากษ์ คือการคิดให้ครบถ้วนในทุกแง่มุม เพื่อให้มั่นใจว่า การคิด การทบทวน และการพิจารณานั้น ได้ตระหนักถึงแง่มุมต่างๆ หรือโอกาสต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบต่อสิ่งที่เรากำลังคิดได้ครบถ้วนแล้วจริงๆ เพื่อให้เราสามารถทำความเข้าใจ หรือกำหนดวิธีการในการจัดการ รับมือ หรือการแก้ไขปัญหาได้โดยไม่มีความเสียหายจากการตัดสินใจ หรือ ลดความเสียหายจากสิ่งที่คาดคิดไม่ถึงใหม่ที่สุด การคิดเชิงวิพากษ์ จึงเป็นการจำลองการคิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อวิเคราะห์ประเด็น ที่จะมากรทบ รวมถึง การคิดภายใต้สถานการณ์ทุกๆ แบบที่ทำให้ผลลัพธ์เกิดการเบี่ยงเบนจากสิ่งที่ต้องการหรือคาดหวังไว้


การคิดเชิงวิพากษ์ ยังสามารถนำมาใช้กับการทำความเข้าใจ โดยมีการพิจารณาข้ามช่วงเวลาต่างๆ ได้อีก ซึ่งทำให้ค้นพบประเด็นต่างๆ ที่อาจจะหลงลืมไป การที่เราจะสามารถคิดได้ครบถ้วนนั้น จะต้องนำพื้นฐานการวิเคราะห์มาแยกยแะประเด็น และเพิ่มเติมในแง่มุมต่างๆ แล้วนำประเด็นที่แตกต่างกันในแง่มุมต่างๆ มาวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง


การคิดเชิงสร้างสรร (Creative Thinking)


การคิดเชิงสร้างสรร เป็นการพัฒนาความคิดที่เกิดหลังจาาการคิดเชิงวิเคระห์ เพื่อให้เกิดแนวคิดคิดใหม่ การที่แนวคืดใหม่จะกลายเป็นความคิดสร้างสรรได้ ต้องประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ความคิดที่แตกต่าง และ ความคิดนั้น ต้องมีประโยชน์ การคิดเชิงสร้างสรรเป็นการสร้างความคิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือ ไม่เคยคิดวิธีนี้มาก่อน ซึ่งจะใช้ในการแก้ปัญหา การสร้างกลยุทธ์ และสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการแปลความหมายจากข้อมูล


ทักษะพื้นฐานที่สำคัญของการคิดสร้างสรรคือการฝึกการใช้จินตนาการ และความกล้า หมายความว่า ต้องมีจินตนาการเพื่อให้สมองได้ทำงานในพื้นที่ความคิดที่ยังไม่มีอยู่จริง ในเวลาที่คิด แต่เป็นการจำลองความเหตุการณ์ในความคิดขึ้นมาก ส่วนความกล้า หมายถึง กล้าที่จะคิด เชื่อว่า เราสามารถคิดอะไรที่แตกต่างกว่า ดีกว่าปัจจุบันได้ แล้วเมื่อคิดแล้วต้องกล้าที่จะนำเสนอให้คนอื่นได้รับรู้ถึงความคิดสร้างสรรที่เกิดขึ้นด้วย


การคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking 


การคิดเชิงตรระกะคิดรูบแบบการคิดที่ที่ไล่เรียงเหตุผลจนมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบด้วยกัน 3 อย่างคือ บริบทที่ใช้คิด หลักการที่ใช้คิด และ เกณฑ์การวัดเหตุการณ์ว่าเป็นสิ่งนั้นจริง การคิดเชิงตรรกะต้องอาศัยทั้ง การฝึกฝน และความรู้ประกอบกัน เพื่อให้สิ่งที่ต้องการอธิบาย หรือ สร้างสรรค์ออกมามีความน่าเชื่อถือ ไม่ฟุ้งซ่าน หรือ ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะขาดความเชื่อมโยงกันในความคิดและหลักฐานที่ปรากฎชัดแจ้ง 


โดยส่วนมากแล้วการคิดเชิงตรรกะ เป็นการโน้มน้าวให้คนอื่นยอมรับและเชื่อว่า คิดที่คนหนึ่งคิดนั้น เป็นความจริง ไม่ใช่เกิดจากการมโนสำนึก หรือจินตนาการแบบไม่อยุ่ในพื้นฐานความเป็นจริง ผู้ที่จะคิดเชิงตรรกะในบริบทใดๆ จำเป็นที่จะต้องมีชุดความรู้ที่ยอมรับ หรือ ประสบการณ์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในบริบทนั้นๆ และสามารถประยุกต์ให้สอดคล้องกับเหตุการจริงได้


การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)


กลุยทธ์ หมายถึง วิธีการให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ การคิดเชิงกลยุทธ์ หมายถึงการคิดที่เรียงร้อยเหตุและผล เรียงร้อยลำดับการเกิดเหตุการณ์เมื่อลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ ผู้ที่สามารถคิดเชิงกลยุทธ์ได้ จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ต้องอย่างต้องการได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า รวมถึงสามารถนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนา การแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว


การคิดเชิงกลยุทธ์ ต้องอาศัยระบบการคิดทั้ง 5 รูปแบบก่อนหน้ามารวมไว้เป็นเรื่องเดียวกัย ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานการณ์และความต้องการ การเรียงร้อยให้เป็นระบบ การคิดให้ครบถ้วน ไม่ขาดตกบกพร้อม สร้างวิธีการใหม่ๆได้อย่างสร้างสรรค์ มีเหตุผลที่เป็นตรรกะชัดเจน เหมือนการบูรณาการการคิดเข้าด้วยกันที่ด้าน เพื่อออกวิธีการใหม่ๆ ให้บรรลุถึงสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต


คนที่จะสามารถสร้างระบบการคิดแบบบูรณาการไปสู่กลยุทธ์ได้นั้น ต้องอาศัยการฝึกฝน เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความคิด การและใช้ศักยภาพของสมองให้ออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่ต้องการ รวดเร็ว และครบถ้วน โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูล ข่าวสาร เรื่องราวและการเชื่อมโนงระหว่าวบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น การคิดยิ่งต้องใช้ความซับซ้อนมากขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้น และใช้การเรียบเรียงที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่สามาถบูรณาการทุกเรื่องเข้าด้วยกันได้ จะเป็นคนที่สังคมยุคใหม่ต้องการ