การวางแผนงบประมาณเชิงกลยุทธ์
งบประมาณเป็นแผนที่ทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นแผนที่ควบคุมการรับเงินและการจ่ายเงินขององค์กร หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นแผนการสูบฉีดเลือดขององค์กร ในทุกปีองค์กรจึงต้องจัดเตรียมแผนงบประมาณไว้ เพื่อให้รู้ว่าจะต้องจัดเตรียมเงินสดเท่าไหร่ เอาไปทำอะไร และจะมีรายได้แบบไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงบประมาณจะเจอปัญหาอยู่เสมอ เช่น งบประมาณไม่พอ ทำงบประมาณแล้วไม่ตอบโจทย์ ไม่รู้จะตั้งโครงการในงบประมาณอย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีวิธีการจัดการ ลองมาดูกัน
งบประมาณทำแล้วได้อะไร
ก่อนจะเริ่มเข้าใจแนวคิดของการทำงบประมาณ เราคงต้องรู้ก่อนว่า ทำงบประมาณองค์กรได้อะไรบ้าง นอกจากได้เงินมาทำงาน ประโยชน์ที่เกิดจากการทำงบประมาณ
- องค์กรเห็นภาพรวมว่า เงินที่เตรียมไว้มีนำหนักส่วนใหญ่ไปทางด้านใด
- องค์กรได้เห็นความครบถ้วนของการเตรียมเงินงบประมาณ
- องค์กรได้เห็นความเป็นไปได้ในการสร้างผลงานตามงบประมาณที่ใส่ลงไป
- ผู้ปฏิบัติงานรู้ว่าตัวเองต้องใช้ทรัพยากรเพื่อไปทำผลลัพธ์อะไรบ้าง
การทำงบประมาณที่ดีต้องตอบตัวชี้วัดกลยุทธ์
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า งบประมาณคือขนาดของทรัพยากรทางการเงินที่เราได้ใส่ลงไปในองค์กร (Input) เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการได้ ดังนั้น เพื่อให้การใช้เงินทุกบาทมีความคุ้มค่า เราต้องชัดเจนว่า เราต้องการอะไรกลับมาจากการทำงบประมาณ นั่นหมายความว่า การวางแผนทางกลยุทธ์ และการสื่อสารทางกลยุทธ์จะต้องชัดเจน เสร็จสิ้น และเข้าใจกันก่อนที่จะเริ่มทำแผนงบประมาณ หากไม่เป็นเช่นนั้น การทำงบประมาณ จะกลายเป็นว่า แต่ละส่วนอยากได้อะไร ก็ของบกันมาเพื่อสนองความต้องการของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่สนองความต้องการทางกลยุทธ์ขององค์กร การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดทางกลยุทธ์ ต้องสามารถตั้งค่าชี้วัดได้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า
"ผลรวมของตัวชี้วัดย่อย (BU Goal) = ตัวชี้วัดหลักขององค์กร (Ultimate Goal)"
ซึ่งเหมือนกับการออกแบบงบประมาณว่า
"ผลรวมของงบประมาณฝ่ายงาน = งบประมาณรวมขององค์กร"
วิธีการจัดทำงบประมาณ
การจัดทำงบประมาณ ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพื่อให้รู้ว่าต้องการใช้เงินเท่าไหร่ในแต่ละช่วงเวลา
- ขั้นที่ 1 กำหนดขนาดของงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการดำเนินงานตามปกติ รวมถึงเงินที่เป็นภาระผูกพันที่เคยสัญญาไว้ เช่น เงินกู้ หรือ ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายต่างๆ ซึ่งในขั้นตอนนี้ยังไม่ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลง หรือ การพัฒนาองค์กรแต่อย่างใด เงินจำนวนนี้ แสดงถึงขนาดของทรัพยากรขั้นต่ำที่ต้องการในการดำเนินการขององค์กร
- ขั้นที่ 2 กำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินงานตามปกติที่เกิดขึ้น ภายใต้เงินงบประมาณขั้นที่ 1 จะทำให้รู้ถึงขนาดของต้นทุน หรือ ราคาต่อตัวชี้วัดเมื่อมีการดำเนินงานตามปกติ
- ขั้นที่ 3 พิจารณารายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเทียบกับงบประมาณที่คำนวณมาได้ในขั้นที่ 1 แสดงเป็นเงินส่วนต่างๆ ซึ่งส่วนต่างในที่นี้จะประกอบไปด้วย กำไร และ เงินลงทุนเพื่อการพัฒนา
- ขั้นที่ 4 กำหนดเป้าหมายการเติบโต และหาตัวชี้วัดที่แสดงถึงการเติบโตว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากนั้นจึงหาความแตกต่าง ของตัวชี้วัดที่ต้องการการเติบโต และ ตัวชี้วัดตามปกติ จะได้เป็นค่าตัวชี้วัดส่วนเพิ่ม (Marginal Growth) ซึ่งจะต้องใส่พลังงานลงไปหรืองบประมาณเท่าไหร่
- ขั้นที่ 5 ออกแบบกิจกรรม โครงการ วิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดส่วนเพิ่ม เพื่อนำไปสู่การประมาณการงบประมาณ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้การพิจารณาว่า เงินที่จ่ายไป จะมีความคุ้มค่ากับตัวชี้วัดที่เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เป็นความคุ้มค่าต่อเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น
- ขั้นที่ 6 ปรับแต่งงบประมาณให้ลงตัว เนื่องจากการจัดทำงบประมาณครั้งแรก จะมีส่วนขาดส่วนเกินเสมอ รวมทั้งจะเหมือนกับการทดลองทำการวิเคราะห์ตัวแบบทางการเงิน ซึ่งเมื่อพบว่าขั้นตอนที่ 5 ยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการขององค์กร สามารถปรับวิธีการในการเติบโต หรือ ปรับสัดส่วนของเงินงบประมาณ ปรับขนาดของกำไรที่คาดหวังได้ จากทุกอย่างลงตัวที่สุด และสุดท้ายจึงสรุปออกมาเป็นงบประมาณต้นปีที่สมบูรณ์ได้
- ขั้นที่ 7 นำไปปฏิบัติ ควบคุม และ ปรับตัวเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เพื่อทำให้ผลลัพธ์องค์กร อยู่ในระดับที่ต้องการ
ทั้งหมดคือแนวคิดเบื้องต้นในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้กันได้
ดร.นารา