วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Value Added ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ


วัตถุประสงค์ของธุรกิจทั้งระบบใหม่ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่่อเกิดอรรถประโยชน์ (Utility) แก่สังคมมากที่สุด มองราคาสะท้อนถึงระดับความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
การทำธุรกิจมักจะนิยมตั้งเป้าหมายของธุรกิจเพื่อกำไรสูงสุด และเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเป็นการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะทรัพยากรถูกกลไกตลาดทำงาน แล้วแปรสภาพให้กลายเป็นกำไรมากที่สุดแล้ว

แต่จริง ๆ แล้วการมุ่งสร้างกำไรสูงสุดทำให้เกิดระเบิดเวลาระยะยาว และเป็นการทิ้งคุณค่าพื้นฐานของทรัพยากรไปโดยสิ้นเชิง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือ เกิดจากโครงสร้างตลาดที่ไม่มีความสมบูรณ์ หรือเรียกอีกอย่างว่า ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ไม่มีในโลก นั้นเอง

จากทฤษฎีโครงสร้างตลาด ตลาดแข่งขันสมบูรณ์จะทำให้ราคาถูกกำหนดไว้แค่ราคาที่มีกำไรปกติ หรือเท่ากับต้นทุนผันแปรเฉลี่ยต่อหน่วยที่ต่ำที่สุด ผู้ทำธุรกิจจะไม่มีใครสามารถสร้างความร่ำรวยเกินกว่าคนอื่นได้ ราคาแบบนี้จะสะท้อนถึงมูลค่าของสินค้าที่ผลิตออกมาได้อย่างชัดเจน หมายความว่า ราคาเท่ากับอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของตลาด หรือสังคมพอดี

แต่ในตลาดแบบอื่น ๆ ธุรกิจสามารถสร้างกำไรที่มากกว่ากำไรปกติได้ เพราะสินค้ามีความแตกต่างกัน มีบางคนพอใจที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ความแตกต่างนั้น โดยเฉพาะตลาดผู้ขาดที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาดูแล ดังนั้นธุรกิจจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้เกิดความแตกต่างในตัวสินค้าบริการอย่างมากที่สุด

วิธีการสร้างความแตกต่างของสินค้าที่ใช้ได้กันมากที่สุดคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เช่น กล้วยตาก ถ้าบรรจุถุงปกติ ขายถุงละ 30 บาท มี 20 ลูก แต่ถ้าเอากล้วยตากไปใส่ถุงสวย ๆ ผูกโบว์ จะกลายเป็นถุงละ 50 บาท ถ้าเอากล้วยตากไปใส่ซองละลูก จะกลายเป็นถุงละ 80 บาท ถ้าเอากล้วยตากไปใส่กล่องกระดาษสา ทำเป็นของขวัญ จะกลายเป็นกล่องละ 100 เมื่อเอากล้วยตากไปใส่กล่องผ้าใหม วางขายในโรงแรม อาจจะกลายเป็นกล่องละ 200 ก็ได้ ทั้งที่เป็นกล้วยตากจากสวนเดียวกัน มีคุณค่าทางอาหารเท่ากัน แต่ราคาขายไม่เท่ากัน

ส่วนต่างที่เกิดขึ้น เป็นค่าจัดการ และบรรจุภัณฑ์ นั่นหมายความว่าผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินเพื่อการบริโภคกล้วยที่ได้คุณค่าทางอาหารเท่าเดิมในราคาที่แพงขึ้น ผู้บริโภคจะต้องหาเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่แพงขึ้น อาจจะใช้วิธีการหางานใหม่ที่มีค่าจ้างแพงขึ้น หรือผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นแล้วไปขายให้กับผู้บริโภคคนอื่นที่ราคาแพงขึ้น

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็จะเรียกว่า เงินเฟ้อ ทำให้ระดับราคาค่าครองชีพสูงขึ้น ปัญหาอยู่ที่การแสวงหาเงินเพื่อการดำรงชีพ และการค้ากับต่างประเทศ เพราะในประเทศที่มีระดับราคาต่ำกว่า แต่สามารถผลิตสินค้าได้เหมือนกัน ก็มีโอกาสในการส่งออกมากกว่า ในประเทศที่มีราคาสูง ๆ มักจะต้องนำเข้าสินค้าต่าง ๆ จากต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดดุลการค้า ขาดดุลการชำระเงิน การขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลเพราะรัฐต้องเข้ามาอุดหนุนสวัสดิการของคนในประเทศ

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในแถบประเทศยุโรป และอเมริกา เพราะคนเหล่านี้บริโภคสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่าคุณค่าต่อชีวิตมากกเกินไป

ทางแก้คือการตั้งวัตถุประสงค์ของธุรกิจทั้งระบบใหม่ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่่อเกิดอรรถประโยชน์ (Utility) แก่สังคมมากที่สุด มองราคาสะท้อนถึงระดับความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์แทน เช่นราคาสะท้อนถึงระดับคุณค่าทางอาหาร สะท้อนถึงประสิทธิภาพของยา หรือสะท้อนระดับที่มีผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากสุขภาพไม่สามารถสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจนไม่เหมือนกำไร

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแนวคิดจากกำไรสูงสุด เป็นเพื่อประโยชน์แก่สังคมสูงสุดแทน ก่อนที่ระเบิดเวลาลูกนี้จะระเบิดออกมา