วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2566

ปั้นคนเก่ง #EP38 การวางบทบาทของผู้นำ

 EP#38 การวางบทบาทของผู้นำ



ผู้นำเป็นบุคคลที่สำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชน ต่างต้องการผู้นำ หรือคนที่มา ชี้ นำ พา คนในองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามที่เจ้าของ หรือผู้นำขั้นต่อไปต้องการ สิ่งที่ผู้นำจะได้ตามมาด้วยในการดำเนินการคือ อำนาจ (Authorithy) เป็นอำนาจที่ได้รับมาจากเบื้องบนอีกครั้ง เพื่อให้ใช้สิ่งนี้ขับเคลื่อนองค์กรไปยังจุดที่ต้องการ

สิ่งที่เป็นผลพวงจากการได้อำนาจมาคือบทบาทของผู้ใช้อำนาจ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้น จะมีอยู่ด้วยกัน 3 บาทบาท โดยผู้นำแต่ละคนนั้น จะใช้บทบาทเหล่านี้สลับกันไปตามแต่จังหว่ะและโอกาส หรือบางครั้ง ใช้หลายบทบาทในเวลาเดียวกัน 

บทบาทการเป็นนักปกครอง (Dominator) เป็นบทบาทที่ผู้นำต้องควบคุมผู้คนต่างๆ ในอยู่ในกรอบกติกา หรือระเบียบที่วางไว้ ถ้าเป็นระดับเมืองหรือประเทศ เรียกว่าเป็นบทบาทของการบังคับใช้กฎหมาย ให้แต่ละคนอยู่ในกรอบของกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งต่างๆ เพื่อความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย


บทบาทการเป็นนักบริหาร (Administrator) เป็นบทบาทของคนที่ออกนโยบายและขับเคลื่อนองค์กรด้วยเครื่องมือต่างๆ การออกกลยุทธ์และยุทธวิธีเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมาย รวมถึงการสร้างแนวคิดของเครื่องมือ กลไก และระบบการทำงานต่างๆ ให้สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก จัดหาและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กรอย่างเหมาะสมเพื่อให้นำไปสู่การได้มาซึ่งเป้าหมาย หรือวิสัยทัศน์ขององค์กร


บทบาทการเป็นนักการจัดการ (Manager) เป็นบทบาทของคนที่ต้องไปจัดการทรัพยากรต่างๆ ด้วยความรู้ และทักษะที่มี เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นถูกใช้งานตามที่ต้องการ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และปัญหาเชิงระบบ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ และมีผลลัพธ์ตามที่ได้รับมอบหมายมาให้มากที่สุด 

คำถามที่ผู้นำต้องถามตัวเองว่า ณ เวลานี้ ต้องใช้บทบาทไหนบ้าง?

ในกรณีของการรักษาความสงบ (ที่ไม่ได้เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหว) ต้องใช้เรื่องของการปกครองเป็นเรื่องหลัก ในอดีตการที่แต่ละอาณาจักรพยายามขยายอำนาจและขอบเขตของตน จึงเน้นการใช้การปกครงเพื่อให้เมืองขึ้นหรืออาณานิคมต่างๆ อยู่ในความสงบตามที่ตนต้องการ

ในกรณีที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนเปลง ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ต้องเน้นเรื่องการบริหาร การกำหนดวิสัยทัศน์ที่มีความชัดเจน วัดผลได้ จับต้องได้ และทุกคนในองค์กรเข้าใจได้เป็นภาพเดียวกัน ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือ กลไก และกลยุทธ์อย่างแยบยล ครบ้วน รอบด้าน รวมทั้งมีการวางแนวทางการป้องกันคึวามเสี่ยงด้านต่างๆ เอาไว้อย่างครบถ้วน

ในกรณีที่ต้องมีการปฏิบัติในวิธีการใหม่ๆ หรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ต้องการผู้นำที่เป็นนักจัดการ เนื่องจากการใช้ทรัพยากรต่างๆ มีอย่างจำกัด ต้องเป้นแก้ปัญหาแต่ละเรื่องอย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมถึงป้องกันผลกระทบทางลับที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตที่จะตามมา


คนที่เก่ง ต้องรู้ว่าตัวเองต้องเล่นบทบาทไหนในเวลาใด รู้ภาพการขับเคลื่อนองค์กรในภาพใหญ่ และเห็นรายละเอียดในหารทำงานอยู่ตลอดเวลา และสลับบทบาทของตัวเองได้อย่างแยบยลให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง จากที่เล่ามาฟังดูยาก แต่ทำได้ ด้วยเครื่องมือที่สำคัญคือ สติแห่งการรับรู้


ดร.นารา