วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บทบาทของสถานศึกษากับเขตเศรษฐกิจพิเศษในสหัสวรรษที่ 21

          ในยุคแห่งศตวรรษที่ 21 คือยุคที่เข้าสู่การแข่งขันเชิงกลยุทธ์และการลงทุนข้ามเขตแดนของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดนโยบายการดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มทั้งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศของตนเอง เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุน นโยบายการค้าเสรี และนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประเทศต่างๆ ที่ต้องการเร่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงต่างเร่งระดมการออกนโยบายต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่เห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจเข้ามามีส่วนในการลงทุนในพื้นที่ที่กำหนดไว้ และกับการได้รับสิทธิพิเศษเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข็งขัน แนวคิดลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ประเทศไทย สปป.ลาว สหภาพเมียร์ม่าร์ และ กัมพูชา

          การเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากเป็นการเชิญชวนการลงทุนจากภายนอก ซึ่งในการประกอบธุรกิจ จะประกอบด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ 4 ประการคือ ที่ดิน ทุน แรงงาน และผู้ประกอบการ ในปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้ง 4 ปัจจัย จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ถึง 2 ปัจจัย ซึ่งแหล่งของทรัพยากรมนุษย์นั้น คือ ท้องถิ่นและจากภายนอกท้องถิ่นของที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้น สถาบันการศึกษา จึงมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากในการเตรียมความพร้อมของประชาชนในการเข้าสู่ตลาดงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งในแง่ของแรงงาน ผู้ประกอบการ การสร้างภูมิคุ้มกันทางจริยธรรมและอาชญากรรม ที่มีความยั่งยืน

          การเตรียมความพร้อมนั้น ต้องเริ่มจากสร้างระบบการเรียนการสอนตามความถนัดและการสร้างความมุ่งมั่นในการใช้ชีวิตของนักเรียน การสร้างระบบที่มีความสมดุลระหว่างทักษะทางวิชาการและทักษะทางวิชาชีพ  หมายความว่า เส้นทางการศึกษาจริงๆ แล้ว ไม่ใช่จะสูงสุดได้ที่ระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่จะต้องเน้นเรื่องความเป็นเลิศทางวิชาชีพด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจกิจในระยะยาวนั้น จะต้องใส่ความเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมเข้าไปในตัวนักเรียนทุกระดับ การเป็นผู้ประกอบการหมายถึง การสร้างบุคคลที่รู้จักแสวงหาโอกาส การยอมรับความเสี่ยง การคาดการณ์อนาคต ด้วยวิธีที่มีความแตกต่างอย่างเป็นระบบ อีกทั้ง นักเรียนจะต้องรู้จักการสร้างเป้าหมายของตัวเองในชีวิต เพื่อการสร้างแรงจูงใจในการทำงานและอนาคตอาชีพของตนเอง

          การสร้างความเป็นเลิศเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาทางด้านองค์ความรู้ซึ่งมีการพัฒนาในการศึกษาระดับปริญญาในระบบการศึกษาปกติ แต่การพัฒนาทางด้านวิชาชีพ ยังขาดเรื่องการพัฒนามาตรของความเป็นเลิศที่สามารถใช้อ้างอิงหรือมีความเชื่อถือในวงกว้างได้ ดังนั้น การสร้างระบบการเรียนการสอนที่เป็นปริญญาวิชาชีพ จึงเป็นแนวทางการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในการนักเรียน เพราะโครงสร้างตลาดงาน ต้องการคนทำงานมากกว่าคนคิด ดังนั้น สายอาชีพจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาความยั่งยืนของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้น ระบบการศึกษา จะต้องออกแบบให้นักเรียนสามารถให้นักเรียนได้เลือกตามความสามารถของตนเองที่จะมุ่งสู่ความเป็นเลิศได้ในอนาคต พร้อมทั้งการสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจนสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่เชิงนวัตกรรมได้


การสร้างความเป็นนักนวัตกรรม จะเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ และยังเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว นวัตกรรมสร้างสร้างได้ 3 แนวทางคือ ผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการ ทั้ง 3 รูปแบบจะมีสิ่งที่เหมือนกันคือ วิธีการใหญ่ ความคิดใหม่ ที่สร้างประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจหรือธุรกิจได้ สิ่งนี้ จะทำให้มูลค้าทางเศรษฐกิจของการผลิตและการบริการจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น แต่การสร้างนวัตกรรมนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานการผลิตที่มีมูลค่าสูงในตัวเอง หาใช่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มาซึ่งกำไรมากที่สุด เพราะหากเน้นเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น จะก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ หรือเรียกว่า การสร้างขยะทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก และเป็นการเร่งการใช้มูลค่าที่แท้จริงในอนาคตมาเร็วเกินไป