วันนี้ ตลาดงานในประเทศไทยมีปัญหาการขาดแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ!!!
ภาคเอกชนจำนวนมากที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มาจากสายอาชีวะ มันเกิดอะไรขึ้น แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก่อนอื่น ต้องกลับมาดูที่ตลาดแรงงาน ว่า ได้มีการมอง และทัศนคติต่อแรงงาน และวุฒิการศึกษาอย่างไรวันนี้ยังมีธุรกิจ หรือนายจ้างจำนวนไม่น้อย ที่มองว่า ปริญญาตรี เก่งกว่า ปวส หรือ ปวช จึงสะท้อนออกมาด้วยค่าจ้าง เงินเดือนที่มากกว่า โดยเฉพาะในสายงานที่ทำงานในสำนักงาน ปริญญาตรี 15,000 แต่ ปวส 9,500 ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน นานมากๆ แล้ว หรือว่า ในสายโรงงาน วิศวกรปริญญา เงินเดือน 18,000-20,000 ขั้นต่ำ แต่ ปวส. ไม่ถึง 15,000 ด้วยเหตุนี้ ทำให้การเรียนในระดับวิชาชีพ จึงมีน้อย นอกจากนั้น ทัศนคติของประชาชนบอกว่า คนเรียนดี ต้องเรียน มหาวิทยาลัย คนเรียนไม่เก่ง ต้องเรียน อาชีวะ มันเรื่องที่ทำให้ตลาดงานในประเทศไทยบิดเบี้ยวเป็นอย่างมาก เหตุที่ทุกคนต้องการเรียนมหาวิทยาลัย เพราะต้องการเงินเดือนที่มากกว่า อาชีวะ นั่นเอง
แต่ในความเป็นจริง เราต้องกลับมาย้อนดูในหลักปรัชญาของการศึกษา ในการศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นการศึกษาทางสายวิชาการ มุ่งนั้นการผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และการสร้างสรรงานทางวิชาการ แต่การเรียนในสายวิชาิชีพ มุ่งนั้นการสร้างฝีมือของแรงงาน ให้สามารถเป็นเฟื่องจักรในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคือ ตลาดงานไทย นำคนที่เรียนทางด้านวิชาการ มาเป็นงานวิชาชีพ จะด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติ คุณภาพของคน หรืออะไรก็แล้วแต่
ปัญหาอีกประการของการเรียนสายวิชาชีพ คือ ศักดิ์ศรีของวุฒิ วันนี้ การเรียนสายวิชาชีนั้น เริ่มจาก ปวช. ซึ่งเทียบเท่า ม. 6 และ ปวส. เทียบเท่า อนุปริญญา ยังไม่เท่าปริญญาตรีเลย สูงกว่านั้น เป็น ปวท. ซึ่งไม่มีใครสอนแล้ว แล้ววุฒิที่สูงกว่านั้นหละ ไม่มี!!! ทำให้คนที่ต้องการผลักดันตัวเองให้สูงขึ้นไป ก็กลับไปเรียนทางด้านสายวิชาการกันหมด ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี โท หรือเอก นั่นไง ระบบการศึกษาเองก็ยังไม่เอื้ออำนวยในการสร้างความก้าวหน้าของสายวิชาชีพ ทำให้คนจำนวนมากต้องกลับมาเรียนสายวิชาการ และขาดแรงงานฝีมือในปัจจุบันนี้
มาลองพิจารณาสายวิชาการที่สอนแบบวิชาชีพดูบ้าง อย่างวิชาแพทย์ เป็นการสอนแบบวิชาชีพล้วน ๆ แต่ได้รับการยอมรับอย่างสนิทใจจากคนในสังคม เพราะเรื่องคุณภาพของคน คุณภาพของการเรียนการสอน และคุณภาพของงานที่ทำหลังจากเรียนจบ วุฒิที่ได้ ก็สามารถนำไปเทียบเ่ท่าปริญญาโท หรือถ้าเป็นแพทย์เฉพาะทาง ก็เทียบเท่าปริญญาเอก อีกต่างหาก ซึ่งปริญญาแพทย์ ไม่ได้มีการระบุอะไรไว้เลยว่า เป็นปริญญาโท หรือปริญญาเอก เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าถ้ามีการสร้างมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับได้ แรงงานก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และรายได้ให้กับตนเองได้
แนวทางการสร้างมาตรฐานในอนาคต จะต้องเปลี่ยนแปลงการวางมาตรฐานหลักสูตรทั้งหมด ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน สามารถนำมาเปรียบเทียบกับสายวิชาการได้ และให้โอกาสคนที่เรียนในสายวิชาชีพ สามารถพัฒนาตนเองต่อได้เรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ในสายของตนเอง ไม่ต้องข้ามมาเรียนทางสายวิชาการ เป็นการสร้างให้เกิดกระบวนการคิดค้นเทคโนโลยีในทางปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะมีการสร้างประกาศนียบัตรวิชาชีพในระดับที่สูงขึ้น หรือ สร้างปริญญาวิชาีชีพ โดยให้สามารถเทียบเท่า ปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก ได้เลย เช่นปริญญาวิชาชีพทางด้านการปรุงอาหาร ปริญญาวิชาชีพทางด้านการสร้างสือดิจิตัล ปริญญาวิชาชีพทางด้านการสร้างเครื่องจักร เป็นต้น สำหรับคนที่เรียนในสายวิชาการนั้น ก็มีหน้าที่สร้างงานในสายวิชาการ งานทางทฤษฎี และงานทางแนวคิดเป็นหลัก แบบนี้ จะช่วยให้โครงสร้างของการศึกษา สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดงานได้มากยิ่งขึ้น
ปล. วันนี้ มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เริ่มมีการปรับตัวสอนแบบวิชาชีพ โดยการอ้างอิงกับระบบปริญญาอยู่ เช่น การใช้ Work Base Learning หรือ โรงเรียนสอนการเดินเรือ โรงเรียนสอน Sound Engineer โรงเรียนสอนการบินพาณิชย์ เป็นต้นเป็นแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของภาคเอกชน แต่ทางภาครัฐยังไม่มีการดำเนินการอะไรอย่างเป็นรูปธรรม