#ปัญหาว่าด้วยการสร้างแบรนด์แล้วเพิ่มรายได้จริงหรือ
จากความเดิมตอนที่แล้วเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ ซึ่งหลายๆ ธุรกิจพยายามสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่พยายามสร้างแบรนด์ เพื่อมี่เป้าหมายในการเพิ่มรายได้และเติบโต
คำถามนี้ตอบได้ไม่ยากเลยว่า #แบรนด์ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจริง แต่ต้องเป็นการสร้างแบรนด์ที่ถูกต้อง และเป็นแบรนด์จริงๆ ไม่ใช่การโฆษณาชื่อร้าน หรือการประชาสัมพันธ์แค่การรับรู้ถึงแบรนด์เท่านั้น
ย้ำกันอีกครั้ง แบรนด์ หมายถึง สิ่งที่ผู้คนจำนวนนึงที่มากพอ ให้ความรู้สึกและความหมายไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจนี้ มีบุคลิกลักษณะเป็นอย่างไร ไว้วางใจเรื่องไหนได้บ้าง และมีอะไรที่โดดเด่น
ดังนั้น แบรนด์ จึงสะท้อนความเป็นเนื้อแท้ของธุรกิจออกมามากกว่า และถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว หลายครั้งไม่ต้องออกเงินโฆษณาเลย แต่กลับมาผู้คนจำได้มากมาย
ขอยกตัวอย่างธุรกิจเล็กๆ ที่เก่าแก่และแบรนด์แข็งแรงมาก 2 ธุรกิจ
ธุรกิจแรกคือร้านจีฉ่อย ตำนานคู่จุฬา ถ้าเป็นชาวจุฬา หรือสามย่าน คงจะต้องรู้จักแน่นอน ร้านขายของชำเล็กๆ ขนาด 1 ห้องแถว ที่มีขายทุกอย่างเท่าที่เราจะนึกออก ถึงขนาดมีการทำชาร์เลนจ์กันว่า ใครหาอะไรที่จีฉ่อยไม่มีขายเจอเป็นคนแรก ชนะ เรียกว่า มีของขายมากกว่า 7-ELEVEn เสียอีก ร้านนี้ไม่เคยโฆษณาตัวเอง จนมาถึงยุคหลังที่ต้องย้ายออกเพราะจุฬาเอาพื้นที่คืนถึงได้ทำป้ายเอาไว้นิดหน่อยว่า จีฉ่อย หนึ่งในตำนานคู่จุฬา
แบรนด์ของร้านนี้คืออะไร ตอบคือ ทุกอย่างใต้ฟ้าเมืองไทย มาหาได้ที่ร้านจีฉ่อย มีขายตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถไฟ เอกสารลงทะเบียนทุกมหาวิทยาลัย (สมัยก่อนต้องไปซื้อใบลงทะเบียนแล้วกรอกเอกสารและไปเข้าคิวลงเอง ไม่มีระบบการลงทะเบียนออนลาย) เครื่องเขียนทุกชนิด เครื่องสำอาง อาหารตามสั่ง เฮ้ยไปเอามาจากไหน ก็ยายเจ้าของร้านออกหลังร้านขี่มอร์ไซค์ไปซื้อมาให้แล้วมาขายหน้าร้านไง เด็กสาธิตจุฬาชอบใช้บริการมาก้วลาทำกิจกรรมที่โรงเรียนแล้วหิว ยิ่งไปกว่านั้น ใครหาอะไรไม่ได้ ให้มาสั่งร้านจีฉ่อยเดี๋ยวหาให้ได้ ขนาดห้างจนาดใหญ่ทำไม่ได้ จีฉ่อยทำได้ และร้นนี้รับออเดอร์ 24 ชั่วโมง
เอกลักษณืของจีฉ่อยคือเจ้าของร้านหญิงชรา ใส่ฟันทอง และน้องสาว 2 คนช่วยกันขายของ สิ่งที่ทั้ง 2 ทำมาตลอดคือ ความสำเสมอในการทำธุรกิจ และความสามารถที่คงเส้นคงวา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ก็สามารถทำได้เหมือนเดิม มีวิธีการที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้รับกับระบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จีฉ่อยถึงได้คงกระพันมาถึงทุกวันนี้
ร้านที่ 2 คือ บะหมี่จับกัง จับกังในภาษาแต้จิ๋วแปลว่า กรรมกร อยู่ถนนเจริญกรุง ในซองเล็กๆ ร้านนี้แต่เดิม ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังว่าขายชามละ 50 สตางค์ เน้นขายให้กรรมกรที่ใช้แรงงานย้นเยาวราชกิน แถวนั้นเป็นแหล่งค้าขาย โรงฆ่าสัตว์ ร้านค้าส่ง ตลาด และอะไรอีกมากมาย กรรมกรต้องการกินอาหารราคาถูก ให้เยอะ จานเดี๋ยวอิ่ม มีแรงยกของแบกหามต่อ บะหมี่จับกัง 1 ชาม ให้บะหมี่ประมาณ 6 ก้อน จริงๆ เค้าไม่ปั้นก้อน เค้าลวกบะมีทีละกาละมังแล้วโกยใส่ชามเอา ใช้เตาฟื้น ทำบะหมี่เอง และหมูแดงสูตรตัวเอง จนกลายเป็นตำนานว่า ใครต้องการกินถูก หรือแสดงพลังกินจุ ต้องมาบะหมีจับกัง คนทั่วไปกิน 2 ชามก็ตาเหลือกแล้ว ผมเอง สมัยวัยรุ่น กินได้ 3 ชาม แต่กินอะไรไม่ได้อีก 24 ชั่วโมง วันนี้บะหมี่จับกัง เยาวราช ยังเป็นตำนานอยู่มีผู้คนหลั่งไหลกันไปกิน เพราะแบรนด์ ให้เยอะ มีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะตัว ไม่ต้องถามหาความหรูหราอและความสะอาด เพราะไม่เคยเจอ เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมากในปัจจุบัน ใครไปเยาวราชสายกิน Steet food ไม่มีคำว่าพลาด
มาถึงตรงนี้ตอบได้ชัดเจนว่า แบรนด์ รายได้แน่นอน แต่ต้องเข้าใจว่า การสร้างแบรนด์ต้องใช้เวลา และออกแบบคุณค่าที่ส่งมอบในทุกจุดของกระบวนการทางธุรกิจ ไม่ใช้เน้นการโฆษณา แต่ไม่จริงตามที่ให้คำสัญญาไว้
ถ้าทำแค่นั้น เป็นแค่การสร้างการรับรู้ของแบรนด์เท่านั้น ไม่ใช่แบรนด์ที่แท้จริง
ดร.นารา