วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง หนทางเอาชนะทุนนิยม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดถึง เรื่อง บริโภคนิยม, ทุนนิยม เป็นตัวอันตราย ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทุนนิยม เป็นระบบที่ดี ถ้าอยู่ในข้อสมมติฐานที่ว่า ประชาชนที่อยู่ในสังคม จะต้องมีคุณธรรม และ ศีลธรรมอันดี ซึ่ง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมปัจจุบัน


หลักการของทุนนิยม เริ่มจากการทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด อันเกิดจากการเกิดความชำนาญเฉพาะด้าน ทำเรื่องเดียว ทำให้เก่งอย่างเดียว จะทำให้ทีผลิตภาพสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อมนุษย์ถูกฝึกมาให้ทำแต่เพียงอย่างเดียวในชีวิต จะทำให้ไม่สามารถปรับตัว หรือปรับตัวได้ยากเมื่อ ระบบของเศรษฐกิจเปลี่ยนไป หรือเกิดวิกฤตกาลต่าง ๆ

นอกจากนั้น การที่เกิดความชำนาญเฉพาะด้านเพียงอย่างเดียว จะต้องเกิดการพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา เพราะมนุษย์ ไม่สามารถบริโภคสินค้าและบริการแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อการดำรงค์ชีวิตได้ ซึ่งในความเป็นจริง จะต้องมีการบริโภคสินค้าหรือสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย เพื่อการอยู่รอดของการดำรงชีวิต

ในการที่มนุษย์ สามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้เพียงอย่างเดียวนั้น จะต้องอาศัยสังคมที่มีขนาดใหญ่มาก เพื่อให้เกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ อันเป็นการกระจายความเสี่ยงในการขายสินค้า บริการ หรือแรงงานที่ประชากรหนึ่งหน่วยในสังคมป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

เมื่อมีสังคมขนาดใหญ่ ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้นมาเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางด้านสังคม ปัญหาทางด้านอาชญากรรม ฯลฯ จะสังเกตุได้จากเมืองที่มีขนาดใหญ่เช่น ปังกิ่ง นิวยอร์ค หรือแม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงตามคนโบราญที่ว่า คนเยอะ เรื่องแยะ และที่สำคัญที่สุดเมื่อคนเยอะ ก็เกิดการแข่งขันกันสูง คนเห็นแก่ตัวของคนมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจาก แต่ละคนสามารถผลิตสินค้า บริการ หรือแรงงานได้เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

และเมื่อถึงจุดวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ก็จะเกิดปัญหาเรื่องแรงงานว่างงาน คนตกงาน เพราะคนเหล่านี้ไม่มีหนทางจะทำมาหากินอย่างอื่นได้เลย ทั้งหมดนี้คือปัญหาระยะยาวของระบบทุนนิยม

ทางออก
ทางออกของปัญหาระยะยาวของระบบทุนนิยมคือการลดการพึ่งพาคนอื่น เพื่อความสามารถในการผลิตให้หลายหลาก เน้นเรื่องที่สามารถใช้ยังชีพก่อน เมื่อคนเรามีความสามารถที่หลากหลายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในความสามารถนี้ จะต้องมีประโยชน์ต่อชีวิต มีคุณค่าต่อการดำรงชีพจริง เพราะสิ่งสำคัญอันดับต้นของมนุษย์คือปัจจัย 4 จริง ๆ

เงินไม่ใช้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต แต่เงินเป็นเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และแรงงานเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเจอปัญหา หรือวิกฤตขนาดใหญ่ เช่น สงคราม น้ำท่วม แผ่นดินไหว เงินจะเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าอะไรเลย แต่ปัจจัย 4 ต่างหากที่ยังจะสามารถดำรงคุณค่าของตัวมันเองไว้ได้

สรุปคือ คนเราต้องเริ่มสร้างความหลายในการผลิต (เสื้อผ้า อาหาร เครื่องนุ่งห่ม) การผลิตในที่นี้รวมไปถึงทักษะฝีมือแรงงานด้วย เพื่อเตรียมพร้อมรับในการเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของโลก และพยายามทำให้สังคมมีขนาดเล็กลง เพื่อให้ระดับการเกิดปัญหาน้อยลงตามไปด้วย และด้วยวิธีการแบบนี้ จะทำให้มนุษย์ลดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ลดการพึ่งพาเงินของโลกาภิวัฒน์อันวุ่นวาย

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แบ่งงานกันทำ กับร่วมแรงร่วมใจ อย่างไหนไปรอด

การร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคม หมายถึง การทำงานทดแทนกันได้หลายอย่าง แต่ไปในทิศทางเดียวกัน 

จากทฤษฎีตั้งต้นของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย คงจะต้องเรียนคำว่า แบ่งงานกันทำ เพื่อให้เกิดความถนัด (Specialization) เมื่อมีความถนัดมาก ๆ แล้ว จะทำให้สามารถทำงานได้มากขึ้น และเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ซึ่งทฤษฎีที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องจริง ไม่อาจจะเถียงได้ ด้วยอายุของทฤษฎีเป็นร้อยปี ก็ยังเป็นจริงอยู่ถึงทุกวันนี้ จะกระทั้งมีการพัฒนาทฤษฎีที่ทำให้เกิดการประหยัดอีกหลายเรื่อง เช่น การประหยัดต่อเวลา (Economy of Speed) หมายถึงการทำให้เร็วขึ้น ด้วยคุณภาพเท่าเดิม จะได้ปริมาณมากขึ้น ประหยัดเวลา และค่าแรงได้ การประหยัดต่อด้าน (Economy of Scope) หมายถึงการทำงานในหลาย ๆ งานที่ไปในทางเดียวกัน ก็จะเกิดการประหยัดได้ จะให้มากในอุตสาหกรรมขนส่ง Logistic และห่วงโซ่อุปทาน นั่นหมายความว่า การที่คนเราจะทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องทำให้เก่งจึงจะเกิดผลดี

แต่ ณ จุดนี้ ผู้เขียนมีความที่อยากจะต่อยอดขึ้นไป (ไม่ได้คัดค้าน) เป็นการเสนอความคิดที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก คือการทำงานให้เกิดการประหยัด เป็นการลดใช้ทรัพยากรของโลกได้ แต่เป็นการเพิ่มภาระการพึ่งพิงของคนให้มากยิ่งขึ้น เพราะการที่คนเราจะมีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน จะต้องมีการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ มากมาย แต่การที่คนเรา ทำอะไรเพียง 1-2 อย่าง จะทำให้เกิดการขาดทักษะในการผลิตในชีวิตไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อไม่สามารถจะดำรงชีวิตได้โดยลำพัง จะต้ิองทำการผลิตที่ต้วเองสามารถทำได้ เพื่อแลกกับสิ่งอื่น ๆ ในการยังชีพ

ในภาพที่กว้างขึ้น เมื่อมนุษย์มีความซับซ้อนในการดำรงชีวิตมากขึ้น ต้องการสินค้าในการดำรงชีพมากขึ้น ก็ต้องอาศัยการพึ่งพิงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้สังคมของมนุษย์จะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในอดีตกาล สังคมเล็ก ๆ หรือหมู่บ้านหนึ่ง สามารถผลิตสินค้าเพื่อการยังชีพได้ครบถ้วนในสังคมเดียว แต่ปัจจุบัน มีบางสังคม จะผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว เช่นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อข้าว ซื้อปลา มารับประทาน เมื่อเกิดเห็ตการณ์อุปสงค์สินค้า่ชนิดนั้นลดลง ทำให้ราคาของสินค้าที่หมู่บ้านนั้นสามารถผลิตได้ลดลงตามไปด้วย

สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเป็นหนี้โดยเฉพาะ เกษตรกร และแรงงานอุตสาหกรรม ที่ทั้งชีวิตทำเป็นอยู่อย่างเดียว จากจุดนี้เอง ผู้เขียนจึงเสนอว่า การร่วมแรงร่วมใจ แบบที่สามารถทดแทนงานกันได้ เป็นทางออกในการอยู่รอดของสังคม เช่น คนเราควจจะสามารถเป็นทั้งเกษตรกร และ ช่างในเวลาเดียวกัน เป็นนักการเงินและการตลาดในเวลาเดียวกัน หรือเป็นมากกว่า 2-3 อย่างในเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาบูรณาการได้ ทำให้ผลิตภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งนี้เรียกว่า บูรณาการ (Integrated)

ดังนั้นการร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคม หมายถึง การทำงานทดแทนกันได้หลายอย่าง แต่ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการลดการพึ่งพิงระดับปัจเจกบุคคล ลดปัญหาการขาดแคลนทักษะแรงงาน และลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤติจากสถานะการณ์ต่าง ๆ

แต่อย่างไรก็ดี บุคคลจะต้องมีทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งที่โดดเด่ด เพื่อเป็นการสร้างการประหยัดต่อขนาดจะความชำนาญเฉพาะด้านด้วย ยังเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด แบบยังยืนสืบไป

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เงินออม พระเอกตัวจริง ของระบบเศรษฐกิจ

คำว่าเศรษฐกิจตกต่ำ หมายความว่า การเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ ไม่เติบโต หรือ หดตัว ซึ่งเกิดจากการที่หน่วยธุรกิจ หรือบุคคล ไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ขึ้นได้ หรือมีรายได้หดตัวพร้อม ๆ กัน จำนวนมาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุก ๆ 7-15 ปี ต่อครั้ง

Diagram showing how the business goes in cycles of 'boom' and 'bust'

เรียกว่าเป็นวัฏจักรทางเศรษฐกิจ ซึ่ง โดยปกติแล้ว เศรษฐกิจจะมีช่วงขยายตัว หรือ Boom และช่วงหดตัว หรือ Recession หน้าที่ของผู้บริหารเศรษฐกิจของประเทศ มีหน้าที่ทำให้จุดสูงสุดของ Boom และ ตำสุดของ Recession มีระยะห่างให้น้อยที่สุด

พฤติกรรมของภาคเอกชนโดยทั่วไปมักจะเป็นพฤติกรรมที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโต คือ เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว เอกชนจะเร่งการใช้จ่าย การลงทุน และการกู้ยืม ที่สำคัญ หลาย ๆ คนจะมีการออมในรูปเงินสดน้อยลง เป็นการเร่งการหมุนของเศรษฐกิจมากขึ้น จนกลายเป็นสภาวะฟองสบู่ เพราะทุกคนคาดว่าอนาคตจะดี จึงไปพึ่งพารายได้ในอนาคตมากเกินไป

ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ เอกชน จะยุติกิจกรรมต่าง ๆ เก็บเงินสดให้มากที่สุด เพื่อรอเวลาเศรษฐกิจฟื้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจ มีการหมุนเวียนน้อยลง ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่เป็นการบริโภคขั้นฟื้นฐานเท่านั้น

เงินออม จึงเป็นตัวช่วยให้สภาวะการแกว่งตัวของเศรษฐกิจมีความรุนแรงน้อยลง และเป็นหลักประกันความมั่นคงในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดังนี้

เมื่อเศรษฐกิจเติบโต เอกชนควรกันเงินออมไว้ส่วนหนึ่ง เงินเหล่านี้จะไม่ถูกนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโตจนเร็วเกินไป และยังเป็นการสะสมความมั่งคั่งที่ไม่ด้อยค่า

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ เอกชนจะสามารถนำเงินออมออกมาใช้ เพื่อดำรงชีวิตได้ตามปกติ ในขณะเดียวกัน ยังสามารถเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกำไรได้ในอนาคต เช่น ทองคำ ที่ดิน หรือหุ้น ในราคาที่ถูกด้วย

วิธีการเริ่มต้นคือ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเติบโต ให้ตั้งนโยบายการออมไว้จากรายได้ หรือกำไรสุทธิในทุก ๆ เดือน อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ให้ตั้งนโยบายการใช้เงินออมในเรื่องอะไรได้บ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ในแต่ละเดือน เพื่อให้อยู่รอดได้ตลอดระยะเวลาของภาวะเศษฐกิจตกต่ำ

เงินออมจึงถือได้ว่าเป็นพระเอกตัวจริงของระบบเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว เรามาส่งเสริมนิสัยการออก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ก่อนที่จะสายเกินไป


วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Value Added ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ


วัตถุประสงค์ของธุรกิจทั้งระบบใหม่ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่่อเกิดอรรถประโยชน์ (Utility) แก่สังคมมากที่สุด มองราคาสะท้อนถึงระดับความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
การทำธุรกิจมักจะนิยมตั้งเป้าหมายของธุรกิจเพื่อกำไรสูงสุด และเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเป็นการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะทรัพยากรถูกกลไกตลาดทำงาน แล้วแปรสภาพให้กลายเป็นกำไรมากที่สุดแล้ว

แต่จริง ๆ แล้วการมุ่งสร้างกำไรสูงสุดทำให้เกิดระเบิดเวลาระยะยาว และเป็นการทิ้งคุณค่าพื้นฐานของทรัพยากรไปโดยสิ้นเชิง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือ เกิดจากโครงสร้างตลาดที่ไม่มีความสมบูรณ์ หรือเรียกอีกอย่างว่า ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ไม่มีในโลก นั้นเอง

จากทฤษฎีโครงสร้างตลาด ตลาดแข่งขันสมบูรณ์จะทำให้ราคาถูกกำหนดไว้แค่ราคาที่มีกำไรปกติ หรือเท่ากับต้นทุนผันแปรเฉลี่ยต่อหน่วยที่ต่ำที่สุด ผู้ทำธุรกิจจะไม่มีใครสามารถสร้างความร่ำรวยเกินกว่าคนอื่นได้ ราคาแบบนี้จะสะท้อนถึงมูลค่าของสินค้าที่ผลิตออกมาได้อย่างชัดเจน หมายความว่า ราคาเท่ากับอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของตลาด หรือสังคมพอดี

แต่ในตลาดแบบอื่น ๆ ธุรกิจสามารถสร้างกำไรที่มากกว่ากำไรปกติได้ เพราะสินค้ามีความแตกต่างกัน มีบางคนพอใจที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ความแตกต่างนั้น โดยเฉพาะตลาดผู้ขาดที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาดูแล ดังนั้นธุรกิจจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้เกิดความแตกต่างในตัวสินค้าบริการอย่างมากที่สุด

วิธีการสร้างความแตกต่างของสินค้าที่ใช้ได้กันมากที่สุดคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เช่น กล้วยตาก ถ้าบรรจุถุงปกติ ขายถุงละ 30 บาท มี 20 ลูก แต่ถ้าเอากล้วยตากไปใส่ถุงสวย ๆ ผูกโบว์ จะกลายเป็นถุงละ 50 บาท ถ้าเอากล้วยตากไปใส่ซองละลูก จะกลายเป็นถุงละ 80 บาท ถ้าเอากล้วยตากไปใส่กล่องกระดาษสา ทำเป็นของขวัญ จะกลายเป็นกล่องละ 100 เมื่อเอากล้วยตากไปใส่กล่องผ้าใหม วางขายในโรงแรม อาจจะกลายเป็นกล่องละ 200 ก็ได้ ทั้งที่เป็นกล้วยตากจากสวนเดียวกัน มีคุณค่าทางอาหารเท่ากัน แต่ราคาขายไม่เท่ากัน

ส่วนต่างที่เกิดขึ้น เป็นค่าจัดการ และบรรจุภัณฑ์ นั่นหมายความว่าผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินเพื่อการบริโภคกล้วยที่ได้คุณค่าทางอาหารเท่าเดิมในราคาที่แพงขึ้น ผู้บริโภคจะต้องหาเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่แพงขึ้น อาจจะใช้วิธีการหางานใหม่ที่มีค่าจ้างแพงขึ้น หรือผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นแล้วไปขายให้กับผู้บริโภคคนอื่นที่ราคาแพงขึ้น

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็จะเรียกว่า เงินเฟ้อ ทำให้ระดับราคาค่าครองชีพสูงขึ้น ปัญหาอยู่ที่การแสวงหาเงินเพื่อการดำรงชีพ และการค้ากับต่างประเทศ เพราะในประเทศที่มีระดับราคาต่ำกว่า แต่สามารถผลิตสินค้าได้เหมือนกัน ก็มีโอกาสในการส่งออกมากกว่า ในประเทศที่มีราคาสูง ๆ มักจะต้องนำเข้าสินค้าต่าง ๆ จากต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดดุลการค้า ขาดดุลการชำระเงิน การขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลเพราะรัฐต้องเข้ามาอุดหนุนสวัสดิการของคนในประเทศ

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในแถบประเทศยุโรป และอเมริกา เพราะคนเหล่านี้บริโภคสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่าคุณค่าต่อชีวิตมากกเกินไป

ทางแก้คือการตั้งวัตถุประสงค์ของธุรกิจทั้งระบบใหม่ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่่อเกิดอรรถประโยชน์ (Utility) แก่สังคมมากที่สุด มองราคาสะท้อนถึงระดับความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์แทน เช่นราคาสะท้อนถึงระดับคุณค่าทางอาหาร สะท้อนถึงประสิทธิภาพของยา หรือสะท้อนระดับที่มีผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากสุขภาพไม่สามารถสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจนไม่เหมือนกำไร

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแนวคิดจากกำไรสูงสุด เป็นเพื่อประโยชน์แก่สังคมสูงสุดแทน ก่อนที่ระเบิดเวลาลูกนี้จะระเบิดออกมา

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Nara Kittimetheekul: การใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เกิดผลประโยชน์แก่มนุษยชาติ

Nara Kittimetheekul: การใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เกิดผลประโยชน์แก่มนุษยชาติ

บุฟเฟต์ กิจกรรมที่ทำลายทฤษฎีอรรถประโยชน์

ในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ ธุรกิจอาหารแบบบุฟเฟต์ เจริญรุ่งเรื่องอย่างรวดเร็ว มีการกิจการใหม่เป็นดอกเห็ด ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้บริโภค เพราะอะไร

เพราะว่า ผู้คนมักจะคิดว่าการทานบุฟเฟต์นั้นคุ้มค่า สามารถทานเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งผู้เขียนเองก็นิยมทานอยู่เป็นประจำในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อเรามาพิจารณาดูดี ๆ แล้ว การทานบุฟเฟต์นั้น เป็นการทานที่เกิดความไม่คุ้มค่าในการจัดการทรัพยากรมากที่สุด รวมไปถึงเป็นการทำลายทฤษฎีอรรถประโชยน์ (Utility Theory) เนื่องจาก การบริโภคของคนปกติแล้ว จะบริโภคเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่า ความสุขที่ได้รับในการบริโภคชิ้นสุดท้าย ไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายออกไปในชิ้นสุดท้าย ทางทฤษฎีเรียกว่า อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มหน่วยสุดท้าย (Marginal Utility) เท่ากับ ราคาต่อหน่วย (Price per Unit) ซึ่งจะทำให้คนนั้น ๆ ได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดในเงินที่ตนเองมีอยู่พอดี

แต่ลักษณะของการทานบุฟเฟต์แล้ว เป็นประเภท จ่ายก้อนเดียว แล้ว All You Can Eat แปลว่า ไม่มีราคาต่อห่วยชิ้นสุดท้าย ดังนั้น จึงต้องกินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ขายก็จะกำหนดราคาไว้ให้เท่ากับหรือสูงกว่าคนที่ทานจุที่สุดเพื่อให้ได้รับกำไร จึงเกิดเป็นความท้าทายระหว่าง กระเพราะอาหาร กับ เงินที่จ่ายครั้งแรก โดยส่วนใหญ่แล้วการทานบุฟเฟต์จะทานจนอิ่มเกินพอดี หรือทานทิ้งทานขว้าง!!!!!

ประเด็นจึงอยู่ตรงนี้ การทานบุฟเฟต์จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากร (อาหาร) ที่เกิดความต้องการและพอดี หลายคนทานเสร็จก็ต้องไปกินยา หรือไปนั่งทรมานเพราะอิ่มจัด หรือก็ไปนั่งบ่นว่า ทานไม่คุ้มเลย ทานได้นิดเดียว ที่ซ้ำร้ายกว่าัันั้น การทานบุฟเฟต์ ส่วนใหญ่แล้วจะทานเยอะ ทำให้ได้รับปริมาณเกลือเข้าไปเยอะกว่าที่ควร ทั้งเกลือ ทั้งไขมัน ฯลฯ สารพัด สุดท้ายป่วยอีก

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเตือนใจว่า การทานอาหารให้ทานแต่พอดี อย่าทานเกินกว่าความต้องการของตนเอง เพราะทำให้ตนเองไม่สบาย และยังทำให้การกระจายอาหารเกิดความไม่สมดุลด้วย บางคนต้องการอาหารแต่ไม่สามารถหาได้ แต่อีกส่วนหนึ่งกลับทานให้มากที่สุดเพราะกลัวไม่คุ้มจนเกินกว่าความต้องการของตนเอง

ขอให้มีความสุขในการทานอาหารกันทุกคน

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความรับผิดชอบของรถโดยสารสาธารณะต่อสังคม

ทุกวันนี้หากเราใช้บริการท้องถนนในเมืองใหญ่ มักจะพบสิ่งหนึ่งเสมอ ๆ คือ การขับรถไม่สุภาพของรถสาธารณะ เรื่องนี้เป็นเหตุการเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบมาถึงการสร้างปัญหาจราจรและการลงทุนหลายหมื่นล้านของรัฐบาล

ตามกฎหมายแล้ว ผู้รับจ้างรถโดยสารสาธารณะจะต้องมีหน้าที่ในการนำผู้โดยสารหรือผู้ว่าจ้าง ไปถึงจุดหมายโดยปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รถแท็กซี่ รถเวล์ ขับเร็ว ปากซ้ายที ปากขวาที ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของผู้โดยสาร และผู้ใช้ท้องถนน สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไม คนกรุงเทพ ไม่ชอบขึ้นรถเมล์

สาเหตุหลัก ๆ คือ รถเมล์ร้อน รถเมล์ขับไม่ดี รถเมล์เบียดคนแน่น ฯลฯ งั้น ถ้าเป็นแท็กซี่หละ

แท็กซี่ มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่รู้จะปลอดภัยหรือเปล่า อาจจะถูกปล้น ถูกข่มขืน ถูกพาออกนอกเส้นทางก็ได้

ขับรถดีกว่า สะอาดกว่า สบายกว่า ค่าใช้จ่ายแพงหน่อยก็ยอม (ราคาน้ำมันก็ขึ้นตลอด ไม่ค่อยยอมลง)

จริง ๆ แล้วคนไทยจำนวนหนึ่งถึงจำนวนมาก กลับไม่ได้สนใจเรื่องราคามากกว่าคุณภาพบริการ สังเกตุว่า ทำไมอุตสาหกรรมการบินจึงได้มีการขยายตัวอย่่างรวดเร็ว เพราะเนื่องจาก มาตฐานความปลอดภัยที่ดีกว่า เพราะการให้บริการสายการบินมีหน่วยงานคอยตรวจสอบการบินให้มีความปลอดภัย และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ สายการบินมีอัตราอุบัติเหตุต่ำทีสุดในการโดยสารทุกชนิด ทำได้อย่างไร

ผู้ให้บริการที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบินทุกคน จะต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดี มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้โดยสาร แม้ว่าราคาจะแพงกว่า ก็ยินดีใช้บริการ

ดังนั้นเมื่อมองย้อนกลับมาในการขนส่งสาธารณะอย่าง รถเมล์ แท็กซี่ ก็สมควรแล้วที่จะจัดการให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ดังจะขอยกตัวอย่างเป็นเรื่อง ๆ

แท็กซี่:
จะเห็นว่า ในกรุงเทพมีแท็กซี่จำนวนมากที่ ทำรถตัวเองเป็นเหมือนรถแข่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการแต่งรถมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความแรงและเร็วให้กับรถ หมายความว่ารถแท็กซี่คันนั้น จะขับเร็วตามไปด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วการแต่งรถก็ผิดกฎหมายจราจรอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง นอกจากนั้น การใช้รถที่มีทำเป็นแท็กซี่ ในประเทศไทยไม่ได้มีการกำหนดว่าอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร จึงเอารถที่ใช้ลักษณะบุคคลนั่งทั่วไปมาทำเป็นแท๊กซี่ จริง ๆ แล้วรถแท็กซี่จะต้องมีการออบแบบเฉพาะกิจ เพราะต้องให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร พร้อมความปลอดภัยระหว่างผู้โดยสารกับแท็กซี่ เนื่องจากผู้โดยสารเองก็เกรงว่าจะถูกทำร้าย (มีข่าวให้เก็นอยู่บ่อย) และแท็กซี่ก็กลัวผู้โดยสารปล้น (มีข่าวบ่อยเช่นกัน) ในต่างประเทศ จะมีการกั้น แยก ผู้โดยสารกับคนขับออกจากกัน ในประเด็นสุดท้าย เรื่องความสุภาพของคนขับ คนขับหลาย ๆ คนมักจะ ตะคอก ด่าทอ นินนทา คนในรถ นอกรถ ระหว่างการให้บริการอยู่เสมอ

รถเมล์:
รถเมล์ยิ่งต้องมีความรับชอบสูงกว่าแท็กซี่อีก เพราะจำนวนชีวิตที่อยู่บนรถ ขนาดของรถที่ขับมีจำนวนและขนาดที่ใหญ่กว่ารถโดยสารส่วนบุคคล จึงทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมสูงกว่า ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้น จะมีมากกว่าไปด้วย สิ่งที่เห็นอยู่บ่อย ๆ คือ การที่รถเมล์จะรถไม่เข้าป้าย ขับกินเลย ขับปาดซ้ายปาดขวา ขับเร็ว ขับแข่งกัน เป็นสิ่งที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่น่าตกใจมากคือ ภาพผู้โดยสารวิ่งตามรถเมล์ เหมือนกับวิ่งไปขอส่วนบุญ อะไรสักอย่าง ระหว่างที่วิ่งก็เกิดอุบัติเหตุมากมาย ทั้งวิ่งหกล้อม ถูกรถเชี่ยว ฯลฯ

การจัดระเบียบ และเพิ่มความรับผิดชอบของคนขับรถสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาทางสังคมได้ แต่ต้องทำอย่างจริง ๆ จัง (อีกแล้ว) ฝากเอาไว้ช่วยดูแล

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การรีดเค้นแรงงานอย่างสุด ๆ

ทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินว่า เหนื่อยจัง ไม่ได้พักเลย เมื่อไหร่จะถึงวันหยุดเร็ว ๆ ทนไม่ไหวแล้วลาออกดีกว่า

มีบางคนบอกว่าคนสมัยนี้ทำงานไม่ทน เปลี่ยนงานบ่อย ไม่สู้งาน ถามว่าจริง ๆ แล้วเป็นแบบนั้นหรือ????

หากคิดในมุมกลับ อาจจะไม่ใช่แบบที่ว่าก็ได้ หากนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เป็นตลาดของผู้บริโภค ทุกคนแข่งกันลดราคาเพื่อให้มียอดขายพอจะเลี้ยงตัวเองได้ หมดยุคแล้วที่จะขายน้อยชิ้น กำไรเยอะ ๆ ถ้าสินค้าไม่ล้ำยุคหรือแบรด์แข็งแรงจริง ๆ สงครามราคาเป็นเรื่องปกติ ใครมาสายป่านทางธุรกิจยาวกว่ากัน ก็เป็นผู้ชนะ

หากมาพิจารณาให้ละเอียดขึ้น จะพบว่า งานที่ทำไม่ว่าจะเป็นในโรงงาน ในสำนักงาน มักจะได้รับมอบหมายงานเพิ่ม หรือการจ่ายเงินตามจำนวนงานที่ทำได้ หมายความว่า ผู้ประกอบการกำลังลด Margin ของค่าแรงต่อชิ้นงานลง ในขณะที่ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น แล้วเกิดอะไรขึ้นกับตลาดแรงงาน

แรงงานต้องทำงานมากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น และยากขึ้น แต่ได้ค่าแรงเท่าเดิม ทำให้แรงงานมีรายได้สัมพัทธ์ที่น้อยลง (หลังจากหักลบกลบหนี้กับเงินเฟ้อแล้ว) สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายทีุ่สุดคือ ทำงานมากขึ้นเพื่อให้ตนเองอยู่ได้ ดิ้นรนไปหานายจ้างที่จ่ายค่าตอบแทนสูงขึ้น และไปเรียนหรือฝึกอบรมเพิ่ม

ระบบทุนนิยม กำลังจะถึงจุดที่เรียกว่าตลาดแข่งขันสมบูรณ์มากขึ้นทุกที เพราะระบบการสื่อสารของโลกที่กว้างไกล รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้นทุกวัน ในทางทฤษฎี ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ผู้ประกอบการทุกรายจะไม่สามารถหากำไรส่วนเกินได้ ทำได้เฉพาะกำไรปกติ หรือ กำไรที่เพียงพอต่อต้นทุนผันแปรเท่านั้น

การปรับตัวของแรงงานในอนาคตต้องทำ 2 เรื่องคือ 1 การผลิตเพื่อการบริโภคเอง เนื่องจากการหารายได้เพิ่ม ยิ่งเพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ถ้ามีรายจ่ายที่เพิ่มตามมาด้วย ดังนั้นรายมากหรือน้อย ไม่สำคัญเท่าเงินเหลือ และ 2 การพัฒนาฝีมือที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจ แรงงานไรฝีมือจะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองได้เลย

ถึงเวลาแล้วที่จะมาหาความแตกต่างให้กับตนเอง และหาวิธีลดรายจ่ายให้มีเงินเหลือเพื่ออยู่ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนได้ต่อไป

ขอให้โชคดี

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เกิดผลประโยชน์แก่มนุษยชาติ

ปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกตั้งแต่ปี 2547 (2004) จนรัฐบาลต้องการประกาศตรึงราคาน้ำมันโดยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชย ส่งผลให้เกิดภาวะกองทุนติดลบ 60,000 ล้านบาท

ปี 2554 กลับมีเหตุการณ์แบบนี้อีกครั้งหนึ่ง ที่ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรึงราคาน้ำมันดีเซล แล้วประเทศไทยจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ทำนองนี้อีกกี่ครั้ง ซึ่งทุกครั้งไม่ได้มีผลดีอะไรกับประเทศชาติเลย

การตรึงราคาน้ำมันส่งผลให้เกิดการบิดเบือนของตลาด ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ถึงปริมาณอุปทานที่แท้จริงในตลาด ยังคงมีการใช้ในน้ำมันด้วยพฤติกรรมแบบเดิม กลไกราคาไม่ได้ทำงาน กฏของอุปสงค์และกฏของอุปทานถูกปิดกั้นไว้ สุดท้ายทำให้เกิดการปิดกั้นการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาการจัดการ และการตระหนักถึงความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรของโลกที่มีอยู่จำกัด

ผลกระทบอีกด้านของการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ผู้บริโภคและผู้ผลิตต้องมีการปรับตัวทั้งในแบบระยะสั้น และระยะยาว การปรับตัวระยะสั้นจะมีอยู่ 2 อย่างคือ ลดปริมาณการบริโภค และเปลี่ยนไปใช้สินค้าทดแทน ในการการปรับตัวระยะยาวคือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ทางด้านพลังงาน ทุกวันนี้สิ่งที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อมนุษยชาติคือการใช้สินค้าทดแทนในระยะสั้น วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการนำพืชพลังงานไปผลิตเป็นไบโอดีเซล หรือ เอทานอล แต่ด้วยความบังเอิญว่าพืชพลังงานเหล่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์กินได้ จึงมากระทบต่อห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เช่น น้ำมันปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง

ความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้มีการตรึงราคาน้ำมัน แต่ราคานั้นอยู่ในระดับที่สูงพอที่จะใช้สินค้าทดแทนได้ แต่ราคาน้ไม่สุงพอที่จะเป็นแรงจุงใจให้เกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่าราคาวิกฤติ (Critical Price) เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะผลิตออกมาในช่วงแรก ต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก เช่น เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำในการขับเคลื่อน เครื่องยนต์พลังงานก๊าซไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และวิธีการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบอื่น ๆ ทั้งที่ในห้องทดลองมีวิธีการต่าง ๆ มากมายแต่ไม่สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

แล้วจะทำอย่างไรต่อไป!!!
ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าน้ำมันวันหนึ่งต้องหมดไปจากโลก และเราเองก็มีการเก็บเงินจากการซื้อน้ำมันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษีสารพัดชนิด และเงินกองทุนน้ำมัน แต่ประเทศเรากลับใช้เงินกองทุนน้ำมันไปเร่งให้มีการบริโภคน้ำมันในอัตราเดิม ทั้งที่ควรจะลดลงตามราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้น เงินกองทุนน้ำมันจึงควรเป็นแลหง่เงินสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนทุกชนิด โดยเฉพาะพลังงานที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แบบครบวงจร

ทุกวันนี้น้ำมันที่ใช้ในประเทศส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม ในการใช้เครื่องจักร ผลิตไฟฟ้า และการขนส่งเพื่อการพาณิชย์ สำหรับการใช้บริโภคของประชาชนจะอยู่ในส่วนน้อย เพราะฉะนั้น คำว่าพลังงานทดแทน จะต้องคำนึงถึงเรื่องการใช้กระแสไฟฟ้าด้วย เงินกองทุนน้ำมัน เป็นเงินกองทุนขนาดใหญ่ มีปริมาณเงินที่ไลหเข้าวันละหลายสิบ หรือวันละหลายร้อยล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นจำนวนเงินที่มากเพียงพอต่อการส่งเสริมการวิจัย การลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนได้อย่างมากมายมหาศาล

เช่นการลงทุนทำฟาร์มพลังงานแสอาทิตย์ โครงการนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อผลิตกระไฟฟ้า 14 เมกะวัตต์ต่อวัน นั่นหมายถึงการที่มีประมาณไฟฟ้าใช้ได้ 1 เมืองใหญ่ ๆ (ไม่รวมกทม.) หรือการส่งเสริมการวิจัยการแยกก๊าซจากน้ำเพื่อเป็นเชื้อเพลิงจากก๊าซไฮโดรเจน จะได้ผลผลอยได้เป็นก๊าซออกซิเจนที่ช่วยทำให้อากาศในโลกดีขึ้นด้วยเป็นต้น หรือโรงไฟฟ้าจากขยะ ที่จะช่วนลดปริมารขยะที่ออกมาจากเมืองได้อีกทางหนึ่ง

เงินเหล่านี้ เป็นเงินที่สามารถให้ได้ทั้งในรูปแบบของการให้เปล่า โดยเฉพาะในโครงการวิจัย และเิงินให้กู้ยืมก็ได้ เพราะถ้าให้ผู้ประกอบการกู้เงินผ่านทางสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว โอกาสที่จะได้เงินมีน้อยมาก เนื่องสถาบันการเงินเองก็กลัวว่า เงินที่ให้กู้ไป จะได้กลับคืนหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีใหม่ยังไม่มีใครรับรองผลสำเร็จในอนาคต

ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจจะต้องเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบเพื่อชาติไทยของเรา จะได้มีความมั่งคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนตลอดไป อย่าทำเพียงเพื่อหาเสียง และคะแนนนิยมของตนระยะสั้นเท่านั้น

การมีลูกน้อยกับภาระอันใหญ่หลวงของสังคม

ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา อัตราการเกิดของประชากรในหลาย ๆ ประเทศมีตัวเลขใกล้เคียงกับ 0% รวมไปถึงประเทศไทยด้วย เหตุการณืนี้เริ่มมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไมพร้อมทางการเงิน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ไม่ชอบเด็ก ฯลฯ

สิ่งที่จะเกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงในอนาคตคือ ใครจะเป็นคนดูแลคนแก่ในอีก 30 ปีข้างหน้า???

คำถามนี้เกิดจากการที่มาร้อยเรียงเหตุการณ์ว่า ในปัจจุบัน ประชากรของไทยมีอายุยืนขึ้น แต่งงานช้าลง มีลูกช้าลง เหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า จังหวะของชีวิตมนุษย์ถูกถ่างออกให้กว้างขึ้น หมายความว่า มนุษย์ต้องการบริโภคมากขึ้น!!

ประเด็นที่สำคัญคือ การเกษียณอายุยังคงเป็นอายุเท่าเดิม 55-60 ปี นั้นแสดงถึงว่า เมื่อหลังจากที่เกษียณแล้ว คนเราจะไม่มีรายได้อีกประมาณ 20 ปี

มาดูเรื่องการหารายได้ในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้คนเรานิยมเรียนหนังสือ เรียนเยอะ ๆ จะได้มีรายได้เยอะ ๆ (ไม่รู้จริงหรือเปล่า) อย่างน้อยก็เรียนปริญญาตรีจบอายุ 22 หรือถ้าต่อเลยก็เป็นปริญญาโท จบอายุ 25 เริ่มทำงานถึงอายุ 60 ปี แสดงว่า คนเรามีเวลาการทำงาน 40 ปี ใน 40 ปี นี้จะต้องหารายได้เพื่อการยังชีพของตนเอง ครอบครัว พ่อแม่ที่เกษียณแล้ว

ทีนี้ลองมาลำดับเหตุการณ์กัน ถ้าชายคนหนึ่งเกิดมาตอนที่ พ่อแม่อายุ 30 ปี ลูกคนเดียว ต้องเรียนถึงอายุ 22 ปี แสดงว่าพ่อแม่ต้องรับภาระ 22 ปี หลังจากนั้นทำงาน พ่อแม่อายุ 52 เหลือเวลา 8 ปีในการทำงาน เมื่อพ่อแม่เกษียณ ลูกก็ 30 พอดี ต่อมาอีก 5 ปี (อายุ 35 ปี) ชายคนนี้แต่งงานกับหญิงอีกคนหนึ่ง อายุ 30 ปี (ลูกคนเดียวเหมือนกันมีพ่อแม่อายุเท่ากัน) เท่ากับว่า ชาย-หญิงคู่มีครอบครัวใหญ่คือ พ่อแม่ผู้ชายอายุ 65 ปี พ่อแม่ผู้หญิง อายุ 60 ปี

1 ปีจากนั้น มีลูก 1 คน ตอนนี้นับสมาชิกได้ 7 คน มีคนที่ยังทำงานได้ 2 คน ภาวะพึ่งพิง 5 คน
3 ปีต่อมา ลูกเข้าโรงเรียน ค่าใช้จ่ายเริ่มเยอะขึ้น ชายคนนี้ อายุ 39 ปี หญิง 34 ปี พ่อแม่ผู้ชาย 69 ปี พ่อแม่ผู้หญิง 64 ปี สรุป
1 ปี ต่อมา พ่อแม่ผู้ชายเริ่มเจ็บป่วย เข้าออกโรงพยาบาลอยู่เรื่อย ๆ
5 ปีต่อมา ผู้ชายอายุ 45 ผู้หญิง 40 ปี ลูก 10 ปี พ่อแม่ผู้ชาย 75 (ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องจ้างคนมาดูแล) พ่อแม่ผู้หญิง 70 ปี (เริ่มป่วยเข้าโรงพยาบาล)
สรุปภาระ ทำงาน 2 คน หาเลี้ยง 7 คน รวมตัวเอง และผู้ดูแลพ่อแม่ด้วย

อีก 5 ปี พ่แม่ผู้ชายเสียชีวิต อายุ 80 ปี พ่อแม่ผู้หญิงป่วย (ดูแลตัวเองไม่ได้)
สรุปภาระ ทำงาน 2 คน เลี้ยงดู 5 คน
ตอนนี้ผู้ชายอายุ 50 ผู้หญิงอายุ 45 ลูกอายุ 15 ปี พ่อแม่ผู้ชาย -- พ่อแม่ผู้หญิง 75 ปี+คนดูแล

อีก 5 ปี พ่อแม่ผู้หญิงเสียชีวิต
อีก 2 ปี ลูกเรียนจบปริญญาตรีและเรียนต่อ
อีก 2 ปี เรียนจบปริญญาโท
ผู้ชายอายุ 59 ปี ผู้หญิง อายุ 54 ปี ลูก 24 ปี เริ่มทำงาน
สรุปทำงาน 3 คน เลี้ยงดู 3 คน (อีกปีเดียวผู้ชายเกษียณ)
แล้วกว่าลูกจะแต่งงาน...

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รายได้ที่หาได้ในปัจจุบัน เพียงพอต่อการเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัวหรือไม่ อัตราพึ่งพิงสูงสุด 7/2 หมายความว่า 1 คนต้องเลี้ยงดู 3.5 คน ดังนนั้น การจะหายรายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย 3.5 เท่าขั้นไปถึงจะมีเงินเก็บได้ ถ้าคนเรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาทต่อคน จะต้องมีรายได้ 35,000 ต่อเดือนขึ้นไป ถึงจะเริ่มมีเงินเก็บ และสะสมความมั่นคั่งให้กับชีวิตได้

ในสมัยก่อน คนเรามีลูกเยอะ ทำให้อัตราพึ่งพิงมีน้อยกว่าปัจจุบันมากทำให้ระบบในสังคมยังสามารถอยู่ได้ แต่ในอนาคต คนที่อายุ 30 วันนี้กำลังจะเจอสถานการณ์แบบนี้ในอนาคต

วิธีการแก้ไข วิธีแรกคือการลดภาระพึ่งพิง หมายถึง การทำงานหลังเกษียณให้เพียงพอต่อการยังชีพ และการหารายได้เสริมระหว่างเรียน นอกจากนั้น คนทำงานต้องรู้จักการออมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับตนเองในอนาคต นอกจากนั้น คนที่ทำงานจะต้องหารายได้ให้กับตอนเองมากกว่าที่บริโภคอย่างน้อย 3 เท่า

ในบ้างประเทศรัฐบาลบังคับการออมของตนเองผ่านระบบภาษี คือ รัฐบาลเก็บภาษี 60% ของรายได้สุทธิ แต่เมื่อเกษียณ์อายุ 65 แล้ว (เกษียณอายุแก่กว่าของไทยด้วย) จะมีเงินเดือนจ่ายให้เพื่อยังชีพทุกเดือน และเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในวงเงินที่กำหนดต่อปี อีกทั้งยังมีบ้านพักสำหรับคนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ในระยะยาว

ประเทศไทยจะเป็นแบบนั้นได้หรือไม่???