วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

การติดตามงาน Work From Home ให้ได้ผล

หลายๆ เมืองเกิด Lock Down แล้ว บางหน่วยงานก็มีมาตรการทำงานอยู่ที่บ้าน เมื่อยังต้องทำงานก็ต้องมีผลงาน เพราะการทำงานที่บ้านไม่ใช่การหยุดงาน หัวหน้าหลายคนก็เจอประเด็นการติดตามผลการทำงาน เพราะว่า การทำงานแตกต่างไปจากเดิม จากที่เคยที่งานเห็นหน้ากัน สอบถามความคืบหน้ากันได้อยู่ตลอดเวลา เป็นต่างตนต่างไปทำงานที่บ้านของตัวเอง ดังนั้น วิธีการประเมินจากต้องแตกต่างออกไปจากเดิม โดยขั้นตอนการประเมินต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือวิธีการประเมิน และส่วนที่ 2 คือวิธีคิดของผู้ประเมินหรือหัวหน้าทีมเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน
.
.
วิธีการประเมิน
1. แบ่งประเภทงานออกเป็น 2 กลุ่มคือ งานที่ต้องทำงานพร้อมๆ กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นงานที่ต้องเป็นงานทำงานต่อกัน ทำพร้อมกัน หรือประสานงานกันตลอดเวลา เช่น Call Center หรือ คนตอบคำถามลูกค้า ที่มีเวลาในการให้บริการ กลุ่มที่ 2 คืองานที่ไม่ได้จำเป็นต้องทำงานพร้อมกัน แต่ละคนแบ่งงานเป็นชิ้นๆ แต่มีเวลาที่ต้องทำเสร็จตามที่กำหนด เช่นงานวิเคราะห์ข้อมูล งานออกแบบระบบ งานขาย
.
2. กำหนดประเด็นที่สำคัญของหน้าที่งานแต่ละตำแหน่ง เอาที่สำคัญจริงๆ 1 ข้อ ต่อคน ตรงนี้ต้องวิเคราะห์ที่คุณค่าหลักของแต่ละตำแหน่งสั้นๆ 1 ประโยค วิธีการคิดคือ หน้าที่ของตำแหน่งนี้มีไว้เพื่ออะไร เช่น มีพนักงานขายไว้เพื่อสร้างยอดขายและรักษาฐานลูกค้า นั่นหมายความว่า งานอื่นๆ ของตำแหน่งพนักงานขายเป็นงานแถม หรือหน้าที่รองทั้งหมด หรือ พนักงาน Call Center มีหน้าที่ตอบคำถามและแก้ปัญหาให้ลูกค้าทางโทรศัพท์ พนักงานแผนงานงบประมาณ มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลด้านงบประมาณและสร้างแผนการใช้งบประมาณ เป็นต้น
.
3. กำหนดวิธีการวัดความสำเร็จจำนวน 2-3 ข้อ ต่อตำแหน่ง เช่น พนักงาน Call Center วิธีการวัดความสำเร็จ 1) ทำงานในช่วงเวลาที่กำหนด 2) แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ 3) มีการบันทึกข้อมูลที่สำคัญให้บริษัทได้รับทราบ พนักงานฝ่ายกลยุทธ์ 1) รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดกลยุทธ์ 2) วิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวจ้องกับกลยุทธ์ 3) เสนอแผนกลยุทธ์เพื่อพร้อมในการตัดสินใจ
.
4. นำตัวชี้วัดมาสร้างเป็นการวัดผล ซึ่งจะอยู่ในรูปของ KPI หรือ OKR ก็ได้ ถ้าเป็น KPI เหมาะสำหรับการงานที่ต้องทำพร้อมๆ กัน มีกระบวนการในการทำงาน แต่ถ้าเป็น OKR เน้นที่ผลลัพธ์ของงาน จะทำด้วยวิธีไหนก็ได้ แต่ความคืบหน้าในการทำงานต้องทราบโดยทั่วกัน เพื่อให้ทีมสามารถมาช่วยเหลือกันได้
.
5. กำหนด ระยะเวลาในการพูดคุย กันของทีมให้เป็นเรื่องจำเป็นและควรทำแบบรายวัน ถ้าเป็นงานที่ต้องทำงานด้วยกัน ให้กำหนดเวลาพูดคุยตอนเริ่มงาน ระหว่างวัน และก่อนเลิกงาน สำหรับงานที่เป็นการทำงานแบบชิ้นงาน ให้มีการพูดคุยกันวันละ 1 ครั้งอย่างน้อย ก่อนสิ้นวัน หรือ เป็นวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้า และตอนเย็น ขึ้นกับข้อตกลงของทีม เรื่องการที่พูดคุยกัน นั้น เป็นเรื่องการกำหนดเป้าหมายรายวัน การแสดงถึงอุปสรรคและแนวคิดของการทำงาน การให้กำลังใจของทีมงานร่วมกัน การแบ่งปันเทคนิคใหม่ๆ ที่ช่วยให้การทำงานเพิ่มขึ้น
.
6. กำหนดเป้าหมายที่ต้องการในแต่ละวัน โดยหัวหน้าทีมเป็นผู้กำหนด และตกลงร่วมกันกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้คนในทีมรู้ว่า ในแต่ละวันต้องทำอะไรให้สำเร็จ มีตัวชี้วัดที่สามารถบันทึกเป็นหลักฐานได้อย่างไร ตรงนี้อาจจะใช้แอพในการติดตามผลการทำงาน หรือ โครงการต่างๆ ได้ เพื่อให้เห็น Timeline ของการทำงานได้อย่างชัดเจน
.
.
วิธีคิดของผู้ประเมินหรือหัวหน้าทีม
.
1. ผู้ประเมินต้องเปลี่ยนวิธีการคิดเป็นผู้สนับสนุนแทนการจับผิด และทำความเข้าใจกับทีมของตัวเองให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะการจับผิดนั่นจะไม่ช่วยให้การทำงานไปได้อย่างราบลื่น การทำงานที่บ้าน จะยิ่งตรวจสอบยากมาว่า พนักงานได้ทำงานอยู่ที่หน้าคอมพิวเตอร์จริง 100% ของเวลางานหรือไม่ ดังนั้น การสร้างแนวคิดเป็นผู้สนับสนุน ต่อมีความไว้วางใจต่อทีมงาน และเชื่อว่าทุกคนตั้งใจทำงาน
.
2. วางแผนงานล่วงหน้าว่าในแต่ละวันต้องการผลลัพธ์อะไร ในแต่ละสัปดาห์ต้องการผลลัพธ์อะไร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของการทำงานที่ต้องการ
.
3. มีความพร้อมในการแก้ปัญหาให้ทีมงานของตัวเองตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่า ตนเองไม่ทอดทิ้งทีมงาน อยู่เคียงข้างทีมงาน และให้ความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
.
4. เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่รีบตัดสิน เนื่องจากการทำงานที่บ้านแต่ละคนไม่ได้เจอหน้ากันตลอดเวลา จึงต้องฟังทีมงานของตัวเองก่อน รับข้อมูลเข้ามาก่อนที่จะตัดสินใจอะไร ภายใต่แนวคิดว่า เราอยู่ห่างกัน เราไม่รู้หรอกว่าเขาเจออะไร ฟังไว้ก่อน จะได้รู้จริงๆ ว่า เขาต้องการอะไรกันแน่
.
.
วิธีการข้างต้นนี้ จะช่วยให้การทำงานมีความชัดเจนมากขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานแบบอยุ่ต่อหน้ากันก็ได้

.................................................................................................................

พูดคุยกับผู้เขียนได้ที่
Facebook Page Dr.Nara Kittimetheekul
https://www.facebook.com/DrNaraKittimetheekul

รับให้คำปรึกษา ด้านการพัฒนาตนเอง การพัฒนามนุษย์ การออกแบบระบบการทำงาน
การวิจัยการตลาด การปรับ Mindset เพื่อความสุขและความสำเร็จ